หนองคายวิกฤติ ปศุสัตว์ ต้องประกาศพื้นที่ 3 อำเภอเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวหลังผลตรวจยืนยันหมูติดเชื้อ PRRS หรือโรคหูหมูน้ำเงิน
เป็นโรคการสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกกรณี และห้ามนำหมูตายจากโรคไปชำแหละรับประทาน ขณะที่ยอดหมูป่วยตายเริ่มลดลง แนะเกษตรกรให้ยาต่อเนื่องพร้อมหมั่นทำความสะอาดคอกเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดเชื้อ ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ เกษตรกรหมดสิทธิได้รับเงินชดเชยสัตว์ ตายจากภาครัฐ เพราะไม่รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ภายใน 24 ชั่วโมง
กรณีหมูในฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกร เจ็บป่วยและล้มตายไม่ทราบสาเหตุในพื้นที่ อ.โพธิ์ตาก อ.ท่าบ่อ อ.ศรี–เชียงใหม่ จ.หนองคาย
โดยพบหมูป่วยกว่า 700 ตัว ล้มตาย 50 ตัวนั้น ความคืบหน้าเมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 1 ก.ค. นายศักดิ์สิทธิ์ ทิพยธร ปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากนำซากชิ้นส่วนหมูตายส่งตรวจพิสูจน์โรคที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ผลการตรวจพิสูจน์ยืนยันแล้วพบว่า หมูติดเชื้อ Porcine Repro-ductive and Respiratory Syndrome หรือ PRRS ซึ่งเป็นโรคระบาดในสุกรจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์ แม่สุกรแท้ง และทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งติดต่อได้จากการสัมผัสสุกรป่วย
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีการติดเชื้อในฝูงสุกร จะติดต่อกันได้ทางการหายใจในระยะใกล้ หรือน้ำเชื้อที่ใช้ผสมเทียม
ซึ่งหมูที่ติดเชื้อจะมีอาการเซื่องซึม ตัวแดง มีไข้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด และถ่ายเหลวจนล้มตายในที่สุด หลังจากได้ผลยืนยันแล้ว ได้ประกาศให้พื้นที่ อ.โพธิ์ตาก อ.ท่าบ่อ และ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ทั้งนี้ ตั้งแต่ทราบว่ามีหมูป่วยตายในพื้นที่ จังหวัดได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และอาสาสมัครปศุสัตว์ลงพื้นที่ นำยาปฏิชีวนะฉีดให้กับหมูที่ป่วย เพื่อช่วยในการลดไข้ เสริมยาบำรุงให้หมูกินอาหารได้ ประกอบกับเกษตรกรต้องหมั่นทำความสะอาดคอกสัตว์ ล้างน้ำสะอาด ยาฆ่าเชื้อโรค เกษตรกรที่สัมผัสหมูต้องใส่ถุงมือ สวมรองเท้าบูท ล้างมือทุกครั้งหลังจากจับหมู และต้องแยกหมูป่วยออกจากหมูปกติ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากหมูด้วยกัน
ปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า หลังจากดำเนินการมาตรการดังกล่าวพบว่า ปริมาณหมูตายลดลง หมูป่วยมีอาการทรงตัวจนถึงดีขึ้น
ที่สำคัญต้องหมั่นทำความสะอาดคอกสัตว์เพื่อไม่ให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกายหมูทำให้หมูอาการทรุดหนัก การที่โรคระบาดเร็วเนื่องจากสุขาภิบาลโรงเรือนไม่ดี ไม่สะอาด ห้ามมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ในทุกกรณี หมูที่ตายต้องฝังกลบเท่านั้น ห้ามไม่ให้นำไปชำแหละรับประทาน เพราะอาจมีเชื้อกระจายได้ ทำให้ควบคุมโรคได้ลำบากขึ้น ซึ่งเกษตรกรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามด้วยดี
หมูป่วยหนองคายติด‘ไวรัส’จี้เร่งสกัดแพร่เชื้อ
ด้านนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการระบาดของโรค PRRS
ขณะนี้ได้รับรายงานจากปศุสัตว์ในพื้นที่ และได้สั่งการให้สืบหาสาเหตุที่มาของโรค พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงใน จ.หนองคาย ได้สั่งแม่สุกรมาจากทาง จ.ขอนแก่น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่กักสุกร และห้ามเคลื่อนย้าย พร้อมทั้งแนะนำระบบการเลี้ยง โดยเฉพาะการรักษาความสะอาดภายในคอกหรือฟาร์ม ควรทำวัคซีน PRRS ในแม่สุกร หากมีการเคลื่อนย้ายควรมีการทำประวัติ
ต่อข้อถามถึงเงินค่าชดเชยที่เกษตรกรจะได้รับหรือไม่นั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า
กรณีนี้ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ จะให้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งสุกร สัตว์ปีก โค กระบือ พบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เซื่องซึม เบื่ออาหาร และแสดงอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ผู้เลี้ยงรีบแจ้งให้ปศุสัตว์ ในพื้นที่ทราบเพื่อมาทำการสุ่มและเก็บเชื้อไปตรวจหาที่มาของโรคภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น เกษตรกรจึงจะได้รับค่าชดเชยหากสัตว์เลี้ยงตายลง นอกจากนี้ทางกรมยังได้รับรายงานว่า มีสุกรที่เลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยเกิดล้มป่วยและตายไปแล้วหลายราย สาเหตุของโรคพบว่าเกิดจากเชื้ออหิวาต์ ซึ่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบเข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อแล้ว ส่วนกรณีที่วัวของผู้เลี้ยงใน จ.สตูลล้มป่วยตายนั้น พบว่าสาเหตุเกิดจากการวางยาใส่ในกล้วย เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ไม่หวังดี
สำหรับโรค PRRS เป็นโรคเกิดจากการสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจสุกร หรือที่เรียกว่าโรคหูหมูน้ำเงิน เกิดจากไวรัส PRRS
ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะผ่านจากท้องแม่สุกรที่ยังไม่คลอดลูก และลูกสุกรแรกเกิดที่จะติดเชื้อไวรัสจะใช้เวลาราว 100 วัน จากนั้นจะเริ่มมีปัญหาทางเดินระบบหายใจและตายในที่สุด ก่อนหน้านี้เคยเกิดในประเทศจีน แต่มีการใช้วัคซีนควบคุมโรค ส่วนในไทยมีรายงานว่า เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เคยเกิดการระบาดมาแล้วใน จ.นครปฐม และราชบุรี
ด้าน น.สพ.พลายยงค์ สักการะเศรณี นายสัตวแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค
เปิดเผยว่า โรค PRRS ที่ระบาดในสุกรขณะนี้ เป็นโรคที่ระบาดเฉพาะในสัตว์เท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน แต่ที่ต้องระวังคือหากหมูป่วยตายด้วยโรคดังกล่าว ไม่ควรนำมาชำแหละรับประทาน เพราะการชำแหละอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปติดสัตว์อื่นๆ หรือสัตว์ในคอกเลี้ยงเดียวกัน ส่วนการบริโภคเนื้อหมูนั้น ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ยังรับประทานได้ตามปกติ ยกเว้นเนื้อหมูที่ป่วยตายจากโรคนี้ หรือโรคอื่นๆห้ามนำมาปรุงอาหาร