พาณิชย์แก้ปัญหา เข็นไข่ธงฟ้า ดีเดย์ขายวันนี้

พาณิชย์ แก้ปัญหาราคาไข่ ทำไข่ธงฟ้าราคาถูกขายทั่วประเทศ ดีเดย์ 30 มิ.ย. เกษตรกรผู้เลี้ยง แนะแก้ปัญหายั่งยืนต้องลดกำลังการผลิตรายใหญ่-ลดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์...

วันที่ 29 มิ.ย. 2553 นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ ผู้ค้า

เช่น ชมรมผู้ค้าไข่ไก่ ห้างค้าปลีก ตลาดสด ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้นำไข่ไก่จำหน่ายผ่านช่องทางมุมธงฟ้าในห้างค้าปลีก และ ตลาดสดในราคาถูก โดยจะขายตั้งแต่เบอร์ 2-4 โดยเบอร์ 2 ฟองละ 2.90 บาท เบอร์ 3 ฟองละ 2.80 บาท และ เบอร์ 4 ฟองละ 2.90 บาท เริ่มได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป แต่อาจต้องจำกัดปริมาณการซื้อ เพื่อกระจายไข่ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ป้องกันปัญหาการซื้อเพื่อนำไปขายต่อทำกำไร เพราะราคาไข่ไก่ธงฟ้าต่ำกว่าราคาท้องตลาดเฉลี่ยฟองละ 40 สตางค์

“แผนการนำไข่ไก่ราคาถูกออกจำหน่าย จะทำไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ไข่ไก่ยังมีราคาสูง เชื่อว่า หลังจากนี้ราคาจะอ่อนตัวลงตามภาวะอากาศที่เย็นลง ทำให้แม่ไก่ให้ผลผลิตได้มากขึ้น มั่นใจว่าปริมาณไข่ไก่ที่นำมาจำหน่ายภายใต้โครงการนี้จะเพียงพอต่อความต้องการ และลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ โดยห้างค้าปลีก และร้านที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ตลาดสในกทม., ท็อปส์, แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์, บิ๊กซี และเซเว่น อีเลฟเว่น” นางพรทิวากล่าว

ส่วนการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ราคาแพง ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 30 มิ.ย. นั้น

นางพรทิวา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ แม้จะเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายไข่ไก่ ซึ่งเป็นปลายทาง แต่ก็จะเสนอความเห็นเรื่องการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการ เพราะปัจจุบัน มีบริษัทผู้นำเข้า 9 รายที่ผูกขาดตลาด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ

ด้าน นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาไข่ไก่จะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ

ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หรือตั้งแต่ราคาพืชที่ใช้ทำวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว ราคาพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยง จะแก้เฉพาะส่วนของเกษตรกรไม่ได้ เพราะราคาต้นทางในส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ปัจจุบันสูงมาก จากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้ ก็ต้องลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลงให้ได้ก่อน เพราะมีสัดส่วนในต้นทุนการผลิตถึง 60-70%

นอกจากนี้ หากต้องการแก้ปัญหาราคาให้ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง

เพราะปัจจุบันผลผลิตไข่ไก่ของไทยเกินความต้องการบริโภคมาก แม้จะมีการส่งออก ก็ยังเหลืออยู่ จึงต้องจำกัดการผลิตของกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่ ส่วนเกษตรกรรายย่อยไม่ต้องจำกัด เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวก็เลิกเลี้ยงไปเอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เลิกเลี้ยงไปแล้วจำนวนมาก


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์