ตรึงค่าก๊าซอีก 6 เดือน

รัฐบาลใจป้ำตรึงราคาก๊าซหุงต้มช่วยชาวบ้านออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงก๊าซเอ็นจีวีด้วย ยาหอมหามาตรการเพิ่ม เพื่อให้ก๊าซหุงต้มราคาถูกโดยที่รัฐไม่ต้องรับภาระในการชดเชย รมว.พลังงานระบุราคาจริงก๊าซหุงต้ม 18.13 บาทต่อกิโลกรัม แต่ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯชดเชยอุ้ม 13,224 ล้านบาท

หลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการตรึงราคาก๊าซหุงต้มมาหลายครั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนนั้น

ล่าสุดทางรัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะตรึงราคาก๊าซหุงต้มออกไปอีก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 เพื่อพิจารณามาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้มแอลพีจีและก๊าซเอ็นจีวี โดยนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นชอบการต่อมาตรการเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนทั้งเรื่องก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี รวมถึงการประสานกับทางคณะกรรมการกำกับเรื่องเอฟที และมาตรการช่วยเหลือแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวี โดยจะเสนอยืดมาตรการออกไปอีก 6 เดือน และจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ 29 มิ.ย. พร้อมกับเรื่องการต่ออายุมาตรการบรรเทาเรื่องรถเมล์ รถไฟ และไฟฟ้า

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนหลังจาก 6 เดือนนี้ ขอให้คณะกรรมการไปพิจารณาความเป็นไปได้คือปัญหาก๊าซหุงต้มแอลพีจี

ที่จริงแล้วถ้าเราดูปริมาณที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซกับที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมใช้นั้น อยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันมาก ที่มีปัญหาที่ต้องนำเข้าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากปิโตรเคมี ซึ่งมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาก ได้ขอให้ไปดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่ระบบตรงนี้เราสามารถจะใช้นโยบายในเรื่องของราคาเพื่อช่วยประชาชน โดยอาศัยแหล่งที่ออก มาจากโรงแยกก๊าซ ส่วนระบบของโรงกลั่นของปิโตรเคมีก็ให้พิจารณาไปตามโครงสร้างตามกลไกตลาดโลก หากเป็นเช่นนี้ ประชาชนในภาคที่เกี่ยวข้องจะสามารถใช้ก๊าซหุงต้มในราคาถูก โดยไม่กระทบภาระในเรื่องของการชดเชย

วันเดียวกัน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

เห็นชอบขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อไปอีก 6 เดือน โดยการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซเอ็นจีวี จนถึงเดือนก.พ. 54 จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือน ส.ค. 53 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะเดียวกัน มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เร็กกูเรเตอร์) ในการตรึงค่าเอฟที จนถึงสิ้นปี 53

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอมาตรการให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา พร้อมกับมาตรการลดรายจ่ายแก่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงอื่นในวันที่ 29 มิ.ย.นี้

ส่วนรายละเอียดในการชดเชยการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มที่ระดับ 18.13 บาทต่อ กก. โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยในการนำเข้า 2,204 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมทั้งสิ้น 13,224 ล้านบาท ตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวี โดยให้กองทุนน้ำมันฯจ่ายชดเชยราคาเอ็นจีวี 2 บาทต่อ กก. แก่ ปตท. วงเงิน 400 ล้านบาทต่อเดือน รวม 2,400 ล้านบาท และตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ระดับ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะรับภาระ 5,996 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.มั่นใจว่าฐานะการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันรับภาระได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์