สผ.เดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง)แผนแม่บทภูมิอากาศแห่งชาติ แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก ปี2632 เฉลี่ยสูงขึ้น 4 องศา
นางสาวอาระยา นันทโพธิเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง"ประเทศไทยกับการดำนินงานด้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและระดับนานาชาติ" ในการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง)แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553 - 2562 จัดขึ้นที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ วันนี้( 28 มิ.ย.) ว่า ย้อนหลังไป 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้านับตั้งแต่ปี 2553 อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลกระทบกับภาคเหนือซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ฤดูหนาวมีระยะเวลาสั้นลง
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความหลากหลายของพันธุ์พืชของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียสจะกระทบกับระบบนิเวศน์ทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติไป นางสาวอาระยา กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลจากก๊าซเรือนกระจก ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมีไม่มากนักแต่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มีอัตราการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาต้องหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
สำหรับภาคเหนือในปัจจุบันมีแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง ภายในปี 2632 อุณหภูมิของภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของพื้นที่ 4 องศาเซลเซียส
คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และพิษณุโลก ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนวันที่มีอากาศร้อนเพิ่มสูงจากปีฐานในปัจจุบันมี 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ซึ่งในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) กำหนดให้มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนอย่างจริงจัง รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจ-การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้มากขึ้น
นางสาวอาระยา กล่าวอีกว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น(ร่าง)แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
ซึ่งมีทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง ที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคกลาง กรุงเทพฯ ในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอ ครม.พิจารณา
ด้านนายอภิวัฒน์ คุณารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กล่าวว่า แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยและภาคเหนือเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นในภาคเกษตร โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่มีการเผาเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ใน(ร่าง)แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ อาจมีการบรรจุวิธีการและแนวทางแก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตร เนื่องจากปัญหาดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
ส่วนกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น การขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามเมืองชายแดน ที่มีผลต่อการขยายตัวของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาว่าการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดนในอนาคตจะมีความสามารถในการรองรับและจัดการกับปัญหามลพิษได้มากน้อยเพียงใด ใน(ร่าง)แผนแม่บทฯจะมีการกำพหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้แต่อาจไม่ถึงขั้นเข้มงวดเหมือนในประเทศยุโรป แต่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้เพื่อควบคุม