ผลวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบข้าวไทยแพงเป็นเหตุให้จีนปลอมข้าวไทยขาย 4 วิธี แถมผลิตข้าวสายพันธุ์หอมมะลิแข่ง ส่งผลยอดส่งออกลดลง
นางมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เปิดเผยถึงการพัฒนาข้าวไทยในตลาดจีน ว่าสถาบันได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวร่วมกับ Center for Chinese Agricultural policy ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของจีน พบว่าแม้ปัจจุบันจีนจะผลิตข้าวได้มาก แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าข้าวคุณภาพสูง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทย แต่เนื่องจากข้าวหอมมะลิของไทยมีราคาแพง ทำให้จีนมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวไฮบริด เป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ คือ พันธุ์ข้าว 923, 9113 และชิ่นเซียง
ในส่วนของข้าวพันธุ์ 923 และ 9113 จะไม่มีความหอม แต่ลักษณะของเมล็ดใกล้เคียงกับหอมมะลิมาก
ขณะที่ข้าวชิ่นเซียงมีคุณลักษณะดีกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ทำให้จีนหันมาส่งเสริมการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายในตลาดบน ราคาใกล้เคียงกับหอมมะลิของไทย นางมิ่งสรรพ์ กล่าวว่า จากราคาข้าวไทยที่ราคาสูงมาก ทำให้การส่งออกข้าวของไทยในตลาดจีนมีการปลอมปนมาก โดยแยกออกเป็น 4 ลักษณะ คือ 1.ใช้ข้าวชนิดอื่นๆ มาผสมในไทย ส่วนใหญ่เป็นข้าวปทุมธานีที่ผสมกับข้าวหอมมะลิ ระบุข้างถุงว่าเป็นข้าวหอมมะลิ 92% ทำให้ไม่สามารถเอาผิดในมาตรฐานได้ 2.ใช้ข้าวไทยผสมแต่ทำในจีน 3.ใช้ข้าวจีนผสมในจีน ส่วนใหญ่ใช้ข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวพันธุ์ 923และ 9113 เพราะมีลักษณะคล้ายกัน และ 4. ข้าวจีนที่ส่งออกไปฮ่องกง นำกลับเข้ามาใช้ชื่อหอมมะลิไทย
การปลอมปนดังกล่าวส่งผลกระทบภาพลักษณ์ข้าวไทย ส่งผลให้ปริมาณส่งออกไปจีนลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 80,151 ตัน โดยปี 2549 ส่งออกได้ 614,813 ตัน ปี 2550 ส่งออกได้ 415,203 ตัน ปี 2551 ส่งออกได้ 276,255 ตัน ส่วนปี 2552 ส่งออกได้ 112,463 ตัน
นางมิ่งสรรพ์ กล่าวว่าปัจจุบันจีนมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นในทุกมณฑล ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นรวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริโภค
ดังนั้นไทยมีโอกาสจะขยายข้าวในตลาดบนได้ แต่ต้องศึกษาความต้องการของตลาด จากปัจจุบันตลาดข้าวของไทยคือเมืองเสิ่นเจิ้นมากถึง 60-65% กวางโจว 25-30% เซียะเหมิน 3-5% เซี่ยงไฮ้ 1% และอื่นๆ 5-6% ของปริมาณที่ส่งออกในตลาดจีน ทั้งนี้ในตลาดเสิ่นเจิ้น และกวางโจว ลูกค้านิยมซื้อข้าวหอมมะลิ โดยตัดสินใจจากราคา ขณะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ นิยมข้าวเมล็ดสั้น ลูกค้าหลักของข้าวหอมมะลิไทย อยู่ที่ร้านอาหาร โรงแรม และภัตตาคารชั้นสูง
“โอกาสของข้าวไทยในตลาดจีนยังมีอยู่ แต่รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์คุณภาพข้าวหอมมะลิของไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และตรวจสอบคุณภาพข้าว ไม่ให้ภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหาย“ นางมิ่งสรรพ์ กล่าว