นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจจำนวนและตรวจสอบความมั่นคงของโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในรัศมีรอยเลื่อน 9 แห่ง ที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทย ได้แก่
1. รอยเลื่อนเชียงแสน ระยะห่าง 130 กิโลเมตร (กม.)
2. รอยเลื่อนแม่หา 55 กม.
3. รอยเลื่อนแพร่ 115 กม.
4. รอยเลื่อนเถิน 90 กม.
5. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี 250 กม.
6. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ 500 กม.
7. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 250 กม.
8. รอยเลื่อนระนอง 270 กม. และ
9. รอยเลื่อนคลองมะรุย 150 กม.
โดยได้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดทั้งอายุสมัย วัสดุการก่อสร้าง และองค์ประกอบรวมของโบราณสถาน ตลอดจนสภาพของโบราณสถานว่า ทรุดโทรมมากน้อยเพียงใด จากนั้น จะประเมินความเสี่ยงของโบราณสถานแต่ละแห่ง
ซึ่งจากการตรวจสอบพบโบราณสถานที่อยู่ห่างรอยเลื่อนเปลือกโลก แบ่งเป็น 3 กรณี
1.รัศมี 5 กม. มี 8 จังหวัด 44 แห่ง อาทิ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร (วัดพระมหาธาตุ) จ.สุราษฎร์ธานี, วัดพระธาตุจอมกิติ จ.เชียงราย, เมืองโบราณเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย, เมืองโบราณบ้านวัดพระธาตุจอมพริก จ.น่าน, พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่, พระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี
2.รัศมี 10 กม. 10 จังหวัด 75 แห่ง อาทิ พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, กำแพงเมือง จ.กาญจนบุรี, ถ้ำพระ จ.เชียงราย และ
3.รัศมี 20 กม. 14 จังหวัด 178 แห่ง เช่น ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี, กำแพงเมือง และคูเมืองลำพูน จ.ลำพูน, เจดีย์เชียงยันวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จ.ลำพูน, พระธาตุศรีดอนคำ จ.แพร่, เมืองโบราณเวียงกาหลง จ.เชียงราย, เมืองโบราณเชียงดาว จ.เชียงใหม่, เมืองโบราณเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีกล่าวต่อว่า โบราณสถานที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีทั้งหมด 297 แห่ง
ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดถ้าเกิดแผ่นดินไหว คือพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเร่งบูรณะและสร้างแนวกั้นดินสไลด์เพื่อป้องกันความเสียหาย ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการป้องกันได้รายงานผลการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำงบประมาณในการเสริมความมั่นคงของโบราณสถาน และสอดส่องดูแล หากพบเห็นโบราณสถานมีรอยร้าว ซึ่งอาจเกิดจากวัสดุที่ก่อสร้างหรือปัจจัยอื่นๆ ต้องรีบดำเนินการบูรณะในทันที