ลำตะคองแห้งหนักเหลือน้ำเพียง 86 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลพืชผักนับพันไร่แห้งตาย
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณพื้นที่กักเก็บน้ำเหนือเขื่อนลำตะคอง บริเวณ 2 หมู่บ้าน
คือหมู่บ้านท่างอย หมู่ 13 ต. หนองสาหร่าย และ ต. จันทึก อ. ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดวิกฤติภัยแล้งยาวนาน ไม่มีฝนตกนานกว่า 5 เดือน ขณะปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงมาก จนเหลือน้อยที่สุพด ในรอบ 10 ปี ทำให้บริเวณที่น้ำท่วมท้ายเขื่อน กลายเป็นเนินดินมีหญ้าขึ้นปกคลุมนับพันไร่ ทำให้ชาวบ้านนำ วัว – ควาย หลายร้อยตัวหนีภัยแล้งมาเลี้ยงเพื่อประทังชีวิต และรอฝน หรืออาจจะมีปริมาณของน้ำฝน ที่โครงการฝนหลวงได้นำเครื่องบิน ขึ้นโปรยสารเริ่มทำฝนเทียมในเขตพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา
นายจักรกฤษ แจ้งกรณ์ ผอ. โครงการส่งน้ำ เขื่อนลำตะคอง (กรมชลประทาน )
เปิดเผยสถานการณ์ภายในเขื่อนว่า เขื่อนลำตะคอง ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของคนเกือบทั้ง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดกลาง ที่รองรับน้ำที่ไหลลงมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเขื่อนสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่เก็บกักน้ำเหนือเขื่อนประมาณ 23,125 ไร่ แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือเพียง 86 ล้านลูกบาศ์กเมตร เท่านั้น
ขณะที่นายคณีธิป บุณยเกตุ นายอำเภอปากช่อง กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน
กลางวันอากาศก็ร้อน เฉลี่ยประมาณ 31 – 37 องศาฯ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เกษตรกรในเขต อ. ปากช่อง ประมาณ 110 หมู่บ้าน ที่ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดซึ่งยืนต้นแห้งเหี่ยวตาย มันสำปะหลังก็เหี่ยวตาย น้ำในคลองเคยมีขณะนี้ก็แห้งจนดินแตกระแหง ส่งผลห้พืชผักสวนครัว เช่น ผักชีฝรั่ง ต้นหอม ราคากิโลกรัมละ 150 – 400 บาท แพงที่สุดไม่เคยมี ถ้าเปรียบเทียบก็จะแพงกว่าเนื้อสัตว์ ที่ชำแหละกิโลกรัมละ 120 บาท วางขายในตลาดสด การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจความเสียหาย เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือในเบื้อต้น และรายงานให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทราบต่อไป