กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งห่วงโลมาสีชมพู แค่ 40 วันพบเสียชีวิตแล้ว 9 ตัว ส่วนใหญ่ตายเพราะระบบนิเวศชายฝั่งมีสภาพเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง บ้างติดอวนชาวประมงบาดเจ็บหนักก่อนตาย...
นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กล่าวถึงการพบซากโลมาสีชมพูเสียชีวิตตัวที่ 9 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในรอบ 40 วันพบโลมาสีชมพูเสียชีวิตแล้ว 9 ตัว โดย 8 ตัวแรก พบซากบริเวณชายฝั่งทะเล อ.ขนอม จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนตัวที่ 9 พบซากลอยอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งปากน้ำคลองกลาย ท้องที่บ้านเราะ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นโลมาสีชมพู เพศเมีย อายุ 15-20 ปี มีความยาวทั้งตัว 2.32 เมตร น้ำหนัก 120 กิโลกรัม โดยทั่วไปโลมาดังกล่าว จะอาศัยอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง อ.ขนอม ซึ่งเป็นพื้นที่หาปลาของชาวประมง ทำให้ติดอวนหาปลา และถูกอวนบาดเจ็บก่อนเสียชีวิตในที่สุด
จากการผ่าชันสูตรพบว่า ลักษณะภายนอก มีบาดแผลอักเสบติดเชื้อ หัวใจมีลักษณะบวมโต คล้ายกล้ามเนื้อตาย ปอดไม่สมบูรณ์
มีพยาธิเกาะอยู่เต็ม ส่วนอวัยวะอื่นๆ ไม่พบจุดผิดสังเกต ในกระเพาะอาหารก็ไม่พบว่ามีอาหารหรือถุงพลาสติกแต่อย่างใด คาดว่าโลมาป่วยไม่สามารถหาอาหารได้ รวมทั้งมีติดเชื้อ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต โลมากลุ่มนี้น่าห่วงเป็นอย่างมาก สภาพระบบนิเวศชายฝั่งเสื่อมลงก็เป็นเหตุให้โลมาป่วยได้
โลมาสีชมพูเป็นสัตว์ทะเลหายาก จะมีอายุประมาณ 50-60 ปี แรกเกิดจะมีสีเทา แต่เมื่อโตขึ้นผิวจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นจางลง และเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป ผิวจะเริ่มกลายเป็นสีขาวอมชมพูซึ่งแสดงว่าอายุมาก ตัวเต็มวัยมีความยาวถึง 2.3 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 150-200 กิโลกรัม