´พระบรม´ทรงตั้งครัวสายใยเพิ่ม ´5จังหวัด´ สู้ภัยน้ำท่วม!

"ครัวสายใยรักแห่งครอบครัว"


เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 1 พ.ย. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายจักรพงษ์ หอมไกรลาส รองผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ ราชกุมาร นำคณะไปติดตามการดำเนินโครงการ ครัวสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

สำหรับการจัดตั้ง ครัวสายใยรักแห่งครอบครัวฯ มีจุดประสงค์หลักคือบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารในยามวิกฤติ ส่งเสริมการดูแลภาวะโภชนาการที่ถูกต้องแก่สังคม โดยเน้นใช้วัตถุดิบที่หาได้ในชุมชนเป็นหลัก ส่งเสริมให้มีการจัดซื้อผลผลิตทางการเกษตร ก่อให้เกิดรายได้ชดเชยระหว่างเกิดวิกฤติ และเพื่อให้โอกาสหน่วยงาน องค์กร บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยครัวสายใยรักแห่งครอบครัวฯ จะปรุงอาหารบริการชาวบ้านใน ต.บางหลวงรวม 280 ครอบครัว หรือประมาณ 1,200 คน วันละ 2 ครั้ง คือในช่วงเช้าและช่วงเย็น หากหน่วยงานใดมีความประสงค์จะบริจาคทรัพย์หรือวัตถุดิบใช้ในการประกอบอาหาร สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 0-3533-6560 ต่อ 15 ทุกวัน ในเวลาราชการ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา หลายพื้นที่ระดับน้ำยังคงทรงตัว ขณะที่บางส่วนน้ำเริ่มลดลงแล้ว เนื่องจากมีการระบายน้ำลงไปทาง จ.ปทุมธานีและนนทบุรีมากขึ้น

"น้ำท่วมเริ่มลดลงแล้ว"


เช่นเดียวกับที่ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โดยรวมระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชั้นในเริ่มลดลงมากแล้ว ยกเว้นพื้นที่รอบนอกโดยเฉพาะ ต.โคกพุทรา อ.โพธิ์ทอง ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะน้ำท่วมนาข้าวเสียหายหมดนับพันไร่ นางมาลัย วรรณโต อายุ 46 ปี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวระบุว่า นาข้าวที่กำลังออกรวง 400 ไร่ จมน้ำเสียหายหมด ทำให้สามีเครียดมากเพราะไปกู้ยืมเงิน ธ.ก.ส.มา 1.5 ล้านบาท สิ้นปีจะต้องจ่ายเงินคืน แต่นาข้าวล่มหมดแล้วไม่รู้จะหาเงินมาใช้หนี้ได้อย่างไร ทำให้เครียดจัดบ่นอยากจะฆ่าตัวตาย ก็ได้แต่ปลอบใจและช่วยเป็นกำลังใจให้สามี อยากจะวอนหน่วยงานของรัฐ ให้เข้ามาเยียวยาหรือประนอมหนี้สินให้ด้วย

ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ. อ่างทอง พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม ครัวสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ที่วัดยางทอง หมู่ 8 ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง ซึ่งประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยมื้อละ 2,244 ชุด วันละ 2 รอบ คือเช้าและเย็น รวมทั้งมอบถุงยังชีพพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ให้กับประชาชนใน ต.บางเจ้าฉ่าอีก 1,000 ชุด ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทั้งนี้ สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทาน ครัวสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มอีก 5 จังหวัดในวันที่ 1 พ.ย. คือ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรีด้วย ต่อมาเวลา 15.00 น. นายสำเริง เอี่ยมสะอาด รองราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์ นำข้าวอินทรีย์พระราชทานจำนวน 700 ถุง มามอบให้นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง เพื่อไว้ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 500 ถุง ส่วนอีก 200 ถุงมอบให้โรงเรียนวัดโบสถ์วรดิตถ์วิทยาประสูท อ.ป่าโมก ซึ่งมีเด็กกำพร้าที่ต้องดูแลรวม 450 คนด้วย

"จนท.อาสา ร่วมนำสิ่งของแจกจ่ายช่วยเหลือ"


ขณะเดียวกัน นางรัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมคณะกรรมการ ตลอดจนดารา เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกว่า 100 คน นำสิ่งของเครื่องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพจำนวน 1,200 ชุด เรือท้องแบน 3 ลำ และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำจำนวนหนึ่งเดินทางไปแจกจ่ายและช่วยเหลือประชาชนใน ต.หาดทนง อ.เมืองอุทัยธานีด้วย

ที่ จ.ปทุมธานี เมื่อเวลา 21.30 น. คืนวันที่ 31 ต.ค. พนังกั้นน้ำเชิงสะพานปากคลองบางสะแก หมู่ 4 ต.ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว ได้เกิดพังทลายลงมาทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมไร่นา สวนผัก ตลอดจนบ้าน เรือนประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร นายชาญ พวงเพ็ชร นายก อบจ. ปทุมธานี ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่มาซ่อมพนังกั้นน้ำใหม่ จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 พ.ย. จึงแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

"เปลี่ยนทิศแล้วคงไม่มีผลกระทบไทย"


ทางด้านนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ วันนี้ลดลงไปอีกเหลือเพียง 3,228 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 3,183 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับพายุไต้ฝุ่น ซิมารอน ได้เปลี่ยนทิศไปทางด้านเหนือของประเทศเวียดนามแล้ว อาจจะไม่มีผลกระทบกับภาคกลางของประเทศไทย แต่อาจจะมีบางส่วนไปกระทบภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้าน จ.นครพนม ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะบริเวณดังกล่าวไม่มีน้ำท่วม แต่จะต้องจับตาดูพายุลูกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป ส่วนการเกิดเอลนิโญ่เท่าที่ทราบในปีหน้าคงไม่มีปัญหาเนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ

ด้าน น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกภายหลังน้ำลดในเขตพื้นที่ที่เคยมีการแพร่ระบาดว่า ยังต้องปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนการชดเชยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยนั้น ล่าสุดได้นำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม.แล้ว โดยจะแบ่งความช่วยเหลือออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ใช้งบฯปกติ เช่น ไม่เกิน 5 แสนบาท ก็ใช้งบฯของทางอำเภอ 2. กลุ่มที่ใช้งบฯมากกว่าปกติ เช่น หากเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท ก็เป็นอำนาจของ ผวจ. แต่ละจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มเกษตรกรที่ยอมเสียสละให้ผันน้ำเข้าพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ที่พรรคชาติไทย เมื่อเวลา 10.30น. วันเดียวกัน นายบรรหาร ศิลปอาชา หน.พรรคชาติไทยได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดว่า ควรจะมอบให้เป็นเงินมากกว่าการจัดสรรพันธุ์พืชไปแจกจ่ายเพราะมีช่องโหว่มากเกรงจะเกิดการทุจริตขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังอยากจะให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาใหม่ เพื่อกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดได้เป็นอย่างดี

"จาก 50 ล้านเพิ่มเป็น 100 ล้านแล้ว"


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เผยถึงตัวเลขการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 47 จังหวัดว่า ทางกรมฯได้จ่ายเงินชดเชยค่าทำศพให้ครอบครัว ผู้เสียชีวิตไปแล้ว 79 ราย จากทั้งหมด 159 ราย เป็นเงิน 2,060,000 บาท คงเหลืออีก 80 ราย ที่อยู่ระหว่างรอการเบิกจ่าย นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาสนับสนุนเงินช่วยเหลือจังหวัดต่างๆ เป็นเงิน 314,762,324 บาท นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับทางกระทรวงการคลัง ขออนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการจังหวัดละ 50 ล้านบาท

เป็น 100 ล้านบาท ให้กับจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรง เช่น จ.อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พิจิตร และนครสวรรค์ รวมทั้งเสนอให้ ผวจ.แต่ละจังหวัดที่ประสบภัยประกาศลดหย่อนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2550 ด้วย ขณะที่วิทยาลัยอาชีวะและวิทยาลัยเทคนิคต่างๆจะจัดนักเรียนที่มีความชำนาญออกไปให้บริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าฟรีให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมด้วย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์