กรุงเทพฯ 14 มิ.ย.- นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
กล่าวภายหลังประชุมหารือร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค 5 กลุ่ม จำนวน 167 ราย เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ อยากทราบความคิดเห็นว่า ผู้ผลิตสินค้าได้รับผลกระทบต่าง ๆ ในด้านใดบ้าง แต่จากการที่ได้รับฟัง จากผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่ขัดข้อง ที่จะตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคต่อไปอีก 3 เดือนจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้เป็นไปสิ้นสุดถึงเดือนกันยายน โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า ภาวะราคาน้ำมันในขณะนี้ไม่เกิดความผันผวนมาก จึงไม่กระทบในด้านค่าขนส่งจึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการตรึงราคาสินค้าออกไปอีก 3 เดือนได้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เห็นว่าไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้
เช่น กลุ่มสินค้าเหล็ก โดยเฉพาะแผ่นเหล็กที่นำมาผลิตเป็นกระป๋อง ได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบในต่างประเทศ มีราคาสูงขึ้น ซึ่งทางกลุ่มรับภาระต้นทุนมาแล้ว 2 ไตรมาส และคงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น อาจจะต้องมีการพิจารณาปรับราคาขึ้น จึงได้เสนอให้ไปหารือกับกรมการค้าภายใน หากเห็นว่า ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจริง ก็จะมีการพิจารณาปรับราคาสินค้าขึ้นตามสัดส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง โดยได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปดูแลเรื่องนี้แล้ว
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับการ้องเรียนจากผู้บริโภคสินค้าอาหาร โดยเฉพาะฟูดส์คอร์ด ที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ
รายการอาหารค่อนข้างแพงมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะใช้เวทีประชุมร่วมวันนี้ และอาจจะมีการนัดประชุมกับผู้บริหารห้างต่าง ๆ เช่น โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ และอื่นๆ เพื่อที่จะให้ห้างช่วยเหลือผู้บริโภคในการคิดรายการอาหารที่ไม่แพงเกินไป รวมทั้งจะหามาตรการช่วยเหลือร้านมิตรธงฟ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ 3,000 - 4,000 ราย เพื่อที่จะขอความร่วมมือทางห้างต่างๆ จัดมุมจำหน่ายวัตถุดิบราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 5-10 อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ เนื้อหมู เป็นต้น เพื่อให้ร้านมิตรธงฟ้ามาซื้อวัตถุดิบในราคาถูกไปบริการกับผู้บริโภคในราคาไม่แพง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากห้าง โดยจะนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 สัปดาห์
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์
เช่น ผู้เลี้ยงสุกร กระทรวงพาณิชย์เคยมีแนวทางที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรด้วยการนำข้าวโพดที่อยู่ในโกดังกลางของภาครัฐ มาจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในราคาถูก ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ที่จะนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 10,000 ตัน และมันสำปะหลัง จำนวน 50,000 ตัน มาจำหน่ายในราคาพิเศษ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด.-สำนักข่าวไทย
ผู้ผลิตยอมตรึงสินค้าอีก 3 เดือน
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!