วิจิตรย้ำแก้โคโยตี้ห้ามต่ำ20ละเมิดสิทธิ

"จำกัดอายุเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล"


ระดมจัดระเบียบ"โคโยตี้" รมว.ศึกษาฯ"วิจิตร ศรีสอ้าน"ยืนกรานไม่เห็นด้วยการกำหนดอายุพริตตี้-โคโยตี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ชี้ให้ไปดูในเรื่องสถานที่และกาลเทศะมากกว่า เตรียมนัดหารือ 5 กระทรวงกำหนดเป็นวาระแห่งชาติวันที่ 3 พ.ย.นี้ ขณะที่องค์กรสตรีติงห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นการแก้ปัญหาที่หลงประเด็นและซ้ำเติมผู้หญิง

จากกรณีกระทรวงวัฒนธรรมได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ระบุว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภถึงเรื่องของการแต่งกายของผู้หญิง โดยทอดพระเนตรงานบั้งไฟพญานาคที่ จ.หนองคาย ผ่านสถานีโทรทัศน์ เห็นภาพผู้หญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยแสดงท่าเต้นด้วยท่าทางที่ยั่วยุทางเพศ และมีพระราชกระแสว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก พระพุทธศาสนาในไทยก็มีมากว่า 800 ปีแล้ว วันสำคัญทางศาสนาก็เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนควรน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพ การจัดการแสดงในวันเหล่านี้จึงควรพิจารณาด้วยจิตสำนึกของความเป็นพุทธศาสนิกชน ตลอดจนคำนึงถึงชื่อเสียงของประเทศ ล่าสุดทุกหน่วยสนองพระราชปรารภพระราชินี แก้ปัญหาโคโยตี้ ออกกฎคุมเข้มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 เป็นสาวพริตตี้หรือโคโยตี้ พร้อมเข้มงวดจับกุมการเต้นวาบหวิว หรือแสดงอนาจารในงานวัด

- "วิจิตร"ชี้นร.เต้นเรื่องส่วนบุคคล

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 31 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีกฎระเบียบอยู่แล้วว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เชื่อว่าคงไม่ใช่ปัญหา หากนักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เรามีหน้าที่ปกครอง ดูแลอยู่แล้ว แต่กรณีที่ไปเต้นที่วัดในจ.หนองคายนั้น ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนและเราก็ไม่รู้ว่าเป็นนักเรียนหรือไม่ เป็นใครก็ไม่รู้ ความจริงในบริเวณวัด เจ้าอาวาสหรือกรรมการวัดมีสิทธิที่จะให้อนุญาตได้อยู่แล้ว หากไม่อนุญาตใครก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล

"เรื่องนี้ยังไม่ได้หารือกับกระทรวงวัฒนธรรม เพียงแต่พูดคุยกันภายในกระทรวงศึกษาฯ ว่า เรื่องเหล่านี้เราไม่ส่งเสริมแน่นอน และไม่มีการเต้นในลักษณะนี้ในโรงเรียน ส่วนนักเรียนจะไปทำเรื่องเหล่านี้หรือไม่เราไม่ทราบ ถ้าเป็นนักเรียนชัดเจนแล้วไปทำ เราคงต้องว่ากล่าวตักเตือนว่าไม่เหมาะสม แต่บางเรื่องที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล และไม่ได้ทำในสถานศึกษา อย่างกรณีที่นิสิต-นักศึกษา ไปประกวดนางงามในอดีตไม่เป็นที่ยอมรับ แต่วันนี้ยอมรับกันแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือโป๊ เปลือย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างนั้น คนที่เป็นนักเรียนจะมีอาชีพอะไรไม่ได้เลยหรือ การที่เขาไปทำงานโดยสุจริต และปรากฏตัวถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราจะไปจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเขาไม่ได้ และถ้าจะหารายได้เสริมต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นไปหารายได้เสริมด้วยการค้ายาเสพติดเราจะยอมหรือไม่ ทุกอย่างมีกฎหมายบังคับอยู่แล้ว" นายวิจิตรกล่าว

- นัดถก5กระทรวงเป็นวาระชาติ


นายวิจิตรกล่าวต่อว่า เรื่องการกำหนดอายุเต้นโคโยตี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเหล้า มันคนละเรื่องกัน ถ้ามันเต้นไม่เหมาะสม อายุเท่าไหร่ก็ไม่เหมาะสม ทำไมต้องเอาอายุมาเกี่ยวข้อง ตนรู้สึกว่ามันชักจะยังไง ไม่ได้คัดค้านกระทรวงวัฒนธรรม เพียงแต่คิดว่าการจะออกมาตรการอะไรก็ตามขอให้ปฏิบัติจริงได้ และอย่ากระทบสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่มาโยนให้กระทรวงรับผิดชอบเสมือนหนึ่งว่าคนที่เต้นเป็นนักเรียน

ต่อข้อถามว่า การเต้นโคโยตี้เป็นค่านิยมของเด็กวัยรุ่น เพราะรายได้ดี นายวิจิตรกล่าวว่า ถ้ามันไม่เสียหายจะไปห้ามทำไม แต่ถ้าบอกว่าการเต้นในลักษณะนี้ในที่สาธารณะไม่เหมาะสม จะออกกฎหมายห้ามหรือออกมาตรการอะไรก็ว่ามา ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไปเต้นผิดที่ต่างหาก ถ้าเต้นถูกที่ก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างมีกฎ กติกาสังคมอยู่แล้วว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำในที่สาธารณะ

นายวิจิตรกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุม ครม. ไม่ได้มีการหารือถึงการแก้ปัญหาโคโยตี้ที่มีการไปเต้นด้วยท่าทางยั่วยวนในวัด และคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรมก็ไม่ได้นำเสนอมาตรการใดต่อที่ประชุม เพียงแต่มีการพูดคุยกันนอกรอบ ซึ่งคุณหญิงไขศรีได้ขอให้ตนช่วยประสานความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ในวันที่ 3 พ.ย. ตนจะเชิญรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าวมาร่วมกันหารือถึงมาตรการเสริมสร้างคุณธรรมแห่งชาติ และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะจัดสัมมนาใหญ่และร่วมกันร่างข้อเสนอการเสริมคุณธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม และนำเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้แต่ละกระทรวงนำไปปฏิบัติต่อไป

- แจ้งถึงทุกวัดให้ยึดถือระเบียบ


ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แถลงว่า ทางพศ.ได้หารือร่วมกับมหาเถรสมาคม (มส.) และมีมติให้พศ.แจ้งไปยังเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัด เพื่อให้ทุกวัดในเขตปกครองยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจัดงานวัด พ.ศ.2537 อย่างเคร่งครัด โดยให้กำชับไปยังพระสังฆาธิการเพื่อให้แจ้งกำชับ ห้ามฝ่าฝืน หากวัดใดยังมีการฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าคณะแต่ละระดับที่จะลงโทษวัดในความรับผิดชอบต่อไป

คุณหญิงทิพาวดีกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้พศ. จัดทำโครงการ "คนรักษ์วัด" โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชุมนุมและฆราวาสเกิดความรัก หวงแหนในการปกป้องพุทธศาสนา ซึ่งขั้นแรกจะจัดทำคู่มืออธิบายถึงระเบียบของมส. พร้อมทั้งมีตัวอย่างแนวทางในการจัดกิจกรรมงานบุญต่างๆ ทั้งงานทอดกฐิน งานบวชนาค งานศพ ว่าควรจะมีลักษณะใดถึงจะเหมาะสม เมื่อทำคู่มือเสร็จแล้วจะร่วมกับทางจังหวัดและชุมชนนำไปเผยแพร่ให้กับประชาชนต่อไป โดยได้หารือร่วมกับรมว.มหาดไทยและแม่ทัพภาคที่ 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือก่อน และหลังจากนี้ทางพศ.จะได้เชิญผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาคทั่วประเทศมาประชุมร่วมกัน เพื่อวางแนวทางต่างๆ ที่เหมาะสมอีกครั้ง

- สวน"วิจิตร"ประเด็นสิทธิบุคคล

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ ในฐานะนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปรารภเป็นห่วงเกี่ยวกับเด็กสาวนุ่งน้อยห่มน้อย ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่แรงมาก ที่สำคัญพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งทุกหน่วยงานควรจะหันมาช่วยกันแก้ปัญหาดีกว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องเด็กสาวไปเต้นโคโยตี้นี้เป็นชีวิตกลางคืน คนที่ประคองตัวดีก็ดีไป ส่วนคนที่ประคองตัวไม่ดีกลายไปสู่วงจรการขายบริการทางเพศ มั่วสุม กินเหล้าเมายาจนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมามากมาย เรื่องนี้เป็นปัญหาหมักหมมมานาน ไม่ได้รับการแก้ไข จนกลายเป็นวิกฤตทางสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรมอย่างที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

"แต่ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การหยิบยกเอากฎหมายหรืออ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ตามที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาฯกล่าวอ้าง หากทุกคนอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลกันหมด จะทำอะไรก็ได้ สังคมก็ตาย แล้วสิทธิส่วนสังคมอยู่ตรงไหน สังคมต้องการเป็นสังคมแห่งความดีงาม มีศีลธรรม สังคมแห่งความถูกต้องเหมือนกัน มาอ้างกันแบบนี้ก็ไม่ถูก อยากให้ทุกคนในสังคมออกมาสร้างบนบรรทัดฐานของสังคมว่าจะเลือกให้สังคมเป็นอย่างไร เป็นโอกาสที่เราจะได้วางบรรทัดฐานสังคมที่ดี เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ส่วนกรณีที่วธ.จะเชิญภาครัฐ เอกชน ผู้เกี่ยวข้องไปหารือวันที่ 8 พ.ย.นี้ ผมยังไม่ทราบเรื่อง แต่หากมีการติดต่อมาพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่" นายอมรวิชช์ กล่าว

- ผู้จัด"โคโยตี้"ทำหนังสือขออภัย


ด้านน.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องโคโยตี้ที่เกิดขึ้นใน จ.หนองคายนั้น ขณะนี้วธ.ได้ประสานไปยังสำนักงานวัฒนธรรม จ.หนองคาย ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวแล้ว โดยได้รับรายงานมาว่า ผู้ประกอบการที่นำโคโยตี้มาเต้นในงานบุญบั้งไฟพญานาค ได้ทำหนังสือลงวันที่ 15 ต.ค. เรื่อง การกระทำที่ไม่เหมาะสม ถึงผวจ.หนองคาย จึงได้ขอสำเนาหนังสือมายังวธ.โดยนายประสพชัย ชูตระกูล หุ่นส่วนผู้จัดการ หสม.ทำหนังสือขออภัยที่มีเนื้อหาแสดงถึงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า

ตามที่ หสม.ซันมอเตอร์ ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ทำการประชาสัมพันธ์ โดยได้นำการเต้นโคโยตี้ เพื่อเรียกผู้ชมให้มาชมสินค้า ช่วงงานเทศกาลออกพรรษา ในเขตเทศบาลตำบลจุมพล อ.โพนพิสัย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นั้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้จัดการซันมอเตอร์ ขอแสดงความเสียใจ และกราบขออภัยชาว จ.หนองคาย ที่ทำให้ภาพลักษณ์การเป็นเมืองที่น่าอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงาม และความเป็นเมืองแห่งอริยสงฆ์ของ จ.หนองคาย เสียหาย ขอเรียนว่าเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมิได้มีเจตนาที่จะทำความเสื่อมเสียแก่ชาวหนองคายแต่อย่างใด ตามที่มีข่าวว่าทำการแสดงในบริเวณวัดไทยนั้น ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง เป็นการแสดงบริเวณริมถนนในเขตเทศบาลตำบลจุมพลเท่านั้น

น.ส.ลัดดา กล่าวว่า จะนำหนังสือขอโทษดังกล่าวรายงานต่อคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรมต่อไป ในขณะเดียวกันได้ทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังหน่วยงานภาครัฐ 9 แห่งและภาคเอกชนกว่า 50 แห่งแล้ว เพื่อเชิญมาประชุมหารือถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาระยะยาวแล้ว รวมทั้งทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานวัฒนธรรม 76 จังหวัดว่าจะต้องรายงานถึงสภาพปัญหาวัฒนธรรมที่เบี่ยงเบนทุกเดือน ซึ่งวธ.ได้กำชับไปว่าจะต้องดูแลอย่าให้เกิดเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวัดของตัวเองเด็ดขาด

- องค์กรสตรีค้านห้ามต่ำกว่า20ปี

น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงมาตรการคุมเข้มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นสาวพริตตี้หรือโคโยตี้ว่า ขณะนี้การนำเสนอมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวกำลังหลงประเด็น ซ้ำเติมผู้หญิง สะท้อนว่าหน่วยงานที่แก้ปัญหาเข้าใจปัญหานี้หรือไม่ เพราะการควบคุมเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ไม่กำหนดพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดความล่อแหลม และไม่ได้ควบคุมต้นเหตุ คือ บริษัทห้างร้านขายรถ ขายเหล้า บริษัทเอเยนซี่โฆษณาต่างๆ ที่เป็นผู้ว่าจ้างเด็กผู้หญิงไปเป็นโคโยตี้หรือพริตตี้ ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่มาประณามเด็กนักเต้น เพราะเขาถูกจ้างมาแล้วก็ต้องทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเหตุผลต่างๆ อยากให้ตำหนิคนที่จ้างเด็ก

"น่าเป็นห่วงภาพลักษณ์ผู้หญิงซึ่งถูกมองแย่อยู่แล้ว วันนี้ยิ่งแย่เข้าไปอีก ถูกด่าไม่ว่ากลุ่มไหนทั้งจากคนอ่านข่าววิเคราะห์ข่าว หากอยากตำหนิน่าจะพูดให้ถึงรากปัญหา ต้องป้องกันและแก้ปัญหาให้ถูกทาง ไม่ใช่มาด่าเด็กและผู้หญิง สิ่งที่สมเด็จพระราชินี ทรงเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นเรื่องดีมาก และทรงอยากให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่การที่แต่ละคนออกมาพูดตอนนี้เหมือนเข้าใจคนละเรื่องกับสิ่งที่พระองค์ทรงห่วง คนเต้นโคโยตี้หรือเป็นพริตตี้ ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง แต่มีทั้งอายุต่ำกว่าและมากกว่า 20 ปี แต่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดอายุเด็กต่ำกว่า 20 ปี คิดว่าอาจจะเบลอไปหรือเปล่า จึงมาอ้างกฎหมายและระเบียบแก้ปัญหาแบบนี้" หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรีกล่าว

- "ครูหยุย"จี้รัฐเข้มบังคับใช้กฎหมาย


ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์แสดงความเป็นห่วงวัฒนธรรมของชาติ หลังทอดพระเนตรการแพร่ภาพสาวโคโยตี้เต้นโชว์ในงานบุญบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย ว่าที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เคยมีพระราชดำรัสแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสังคม 2 เรื่อง คือปัญหาเรื่องเสียงของสถานบริการ และเรื่องการแสดงอนาจาร โดยเมื่อมีข่าวเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ก็จะแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพียงระยะหนึ่ง จากนั้นปัญหาก็กลับเป็นดังเดิม สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานด้านสังคมไม่ทำงานจริงจัง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีกฎหมายคอยดูแลอยู่แล้ว

นายวัลลภ กล่าวว่า จากปฏิกิริยาของหน่วยงานราชการที่ออกมาหามาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหา เป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่องที่ทรงมีความเป็นห่วง แต่ไม่ได้มองไกลไปถึงสิ่งที่ทรงเป็นห่วง คือการให้สังคมดูแลเรื่องสังคมให้มีความสะอาดมากกว่านี้ โดยผู้ว่าฯจะต้องทำหน้าที่ดูแล ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดโดยตำแหน่ง แต่จังหวัดมีบทบาทน้อยมาก จากพระราชดำรัสครั้งนี้อยากให้ราชการดูแลปัญหาสังคมทั้งระบบ โดยบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเต็มที่ทุกเรื่อง


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์