ตัดไม้เขาใหญ่ โดนอาญาหมด

ตัดไม้ขยายถนนขึ้นอุทยานฯเขาใหญ่บานปลาย 2 กระทรวงเปิดศึกฟัดกันดุเดือด "สุวิทย์ คุณกิตติ" รมว.ทรัพยากรฯ

ลั่นยอมรับไม่ได้สั่งฟันไม่ไว้หน้าให้กรมป่าไม้แจ้งความคดีอาญาเอาผิดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) และผู้รับเหมาทำถนนแล้ว ขณะที่ "โสภณ ซารัมย์" รมว.คมนาคม ลงดูพื้นที่จริง บอกไม่ใช่ป่าทึบ สงสัยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ 2 หน่วยงานอาจขัดแย้งกันเลยเป็นเรื่อง ยืนยันไม่ใช่นักการเมืองในสังกัดที่ฉกไม้ไปสร้างบ้านพักตากอากาศ "กลุ่มกรีนพีซ" ออกโรง ขู่ไม่ยุติโครงการจะปลุกแนวร่วมอนุรักษ์ทั่วประเทศประท้วงแน่

กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐไปในที่สุด กรณีกรมทางหลวงขยายถนนสาย 2090 หรือถนนธนะรัชต์ (ปากช่อง-เขาใหญ่)

เส้นทางขึ้นสู่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 10 กม. จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร มีการตัดต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีถึง 128 ต้น ส่งผลให้ระบบนิเวศและความร่มรื่น 2 ข้างทางเสียไป โดยเฉพาะอุโมงค์ ต้นไม้ 1 ในอันซีนไทยแลนด์ ต่อมานายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบพบมีความเสียหายมาก จึงสั่งให้ยุติโครงการ และให้กรมป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีเอาผิดผู้เกี่ยวข้องนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กล่าวถึงกรณี กรมทางหลวงขยายถนนขึ้นเขาใหญ่และมีการตัดต้นไม้ หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ แม้ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จะสั่งเดินหน้าก็ไม่เป็นไร เพราะตนได้มอบให้กรมป่าไม้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับกรมทางหลวง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในข้อหาตัดไม้ทำลายป่า และใช้ประโยชน์จากไม้อย่างผิดกฎหมายแล้ว นอกจากนั้น ยังได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง  ยกเลิกข้อตกลงเรื่องการสงวนการตัดฟันไม้ ในแนวเขตทางหลวง และในที่ดินสงวนของกรมทางหลวง พ.ศ.2511 ที่ให้สิทธิกรมทางหลวง ตัดต้นไม้ก่อนทำหนังสือขออนุญาตทีหลังได้แล้ว เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวไม่ เหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน และจะเป็นการป้องกันปัญหาข้อพิพาทในอนาคต ในพื้นที่ป่าไม้อื่นทั่วประเทศอีกด้วย

นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังสั่งระงับหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทำถึงอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ที่ขออนุญาตตัดต้นไม้ ย้อนหลังด้วย สำหรับกระบวนการเอาผิดนับจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้รับเหมา  กรมทางหลวง และ ออป. จะต้องถูกตรวจสอบตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการยอมความ แม้จะเป็นหน่วยงานราชการ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากการขยายถนนที่นำเข้าสู่อุทยานแห่งชาติที่เป็นมรดกโลก หรือพาร์คเวย์ ไม่มีใครในโลกทำกัน และตั้งแต่เกิดเรื่องมีประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์ มาหาตน  บอกว่าจะให้ทำอะไรก็บอก  ไม่ว่าจะออกมาเดิน ขบวนหรือการต่อต้านการขยายถนน  เพราะเสียความรู้สึก ต่อกรมทางหลวงมาก  ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่า  ได้สั่งการให้ยุติการขยายถนนไปแล้วตั้งแต่ กม.ที่ 8 เป็นต้นไป

"รับรองว่ากรมทางหลวงไม่สามารถทำต่อได้ แน่นอน เพราะทำไปก็ผิดกฎหมาย พื้นที่ตรงนั้น แม้จะมีกรมทางหลวงดูแล แต่กฎหมายป่าไม้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ทุกพื้นที่หากมีไม้ใหญ่และต้องการตัดไม้นั้นจะต้องขออนุญาตกรมป่าไม้ก่อน  มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิด ดำเนินคดีได้ทันที" รมว.ทรัพยากรฯกล่าว

เมื่อถามว่านอกจากกรณีการขยายถนนเขาใหญ่ แล้ว กระทรวงทรัพยากรฯกับกรมทางหลวงยังมีข้อพิพาทอื่นๆ  ร่วมกันอีกหรือไม่

นายสุวิทย์กล่าวว่า มีอีกหลายพื้นที่ ภาคเหนือ มี 2 แห่ง เช่น ถนนเชียงใหม่-ปาย เป็นพื้นที่ อุทยานแห่งชาติ และยังมีพื้นที่ป่าสงวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้ยุติหมดแล้วทุกพื้นที่ เมื่อถามอีกว่าตั้งแต่เกิดเรื่องได้คุยกับนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคมหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า ยังไม่ได้ คุย ไม่มีอะไรต้องคุยกัน ส่วนที่นายโสภณบอกว่าตนอยาก ดังนั้นก็ไม่เป็นไร  ตนไม่ถือ เมื่อถามอีกว่าเรื่องนี้จะลุกลาม กลายเป็นปัญหาระหว่างพรรคการเมืองหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน การเมืองกับสิ่งแวดล้อมเป็นคนละเรื่อง แต่เป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนที่รับไม่ได้กับการตัดต้นไม้

นายสมชัย เพียรสถาพร  อธิบดีกรมป่าไม้  กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ได้มอบหมายให้นายวิบูลย์ มหาวงศ์  หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 จ.นครราชสีมา เข้าแจ้งความที่ สภ.ปากช่อง เพื่อให้สอบสวนหาคนผิดกรณีการตัดโค่นต้นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต  ทั้งนี้ จากข้อมูลหลักฐานเบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้อง 2 กลุ่มคือ ผู้รับเหมารถแบ็กโฮขนาดใหญ่ไถเปิดพื้นที่และโค่นล้มต้นไม้ และเจ้าหน้าที่ออป.  ที่เข้าไปตัดทอนต้นไม้ที่ถูกโค่นลงมาแล้ว ส่วนบุคคล ที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้เข้าไปกระทำการดังกล่าว จะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะขยายผลต่อ เพื่อมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนไม้ทั้งหมดที่ถูกโค่นนั้น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 เข้าไปตรวจสอบ และยึดเป็นไม้ของกลางในคดีแล้ว

ยืนยันว่ากรมป่าไม้ ยังไม่ได้อนุญาตให้ใครเข้าไปทำไม้แน่นอน เพราะหนังสือที่ส่งไปให้กับ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นหลักฐานว่ากรมป่าไม้แจ้งชัดเจนว่า ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน ก็แนะนำให้ขุดล้อมต้นไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับทางราชการ ดังนั้น การที่นายวีระ เรือง–สุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง อ้างนั้นไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าไปเกี่ยวข้องเพียงแค่การสำรวจเพื่อทำบัญชีต้นไม้ที่ยังยืนต้นอยู่ 128 ต้นเท่านั้น คดีนี้ถ้าใครสั่งให้ผู้รับเหมา และ ออป. เข้าไปตัดท่อนไม้ ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถึงจะมีข้อตกลงในอดีต แต่อนุญาตให้ทำไม้ไม่เกิน 20 ท่อน แต่งานนี้มีต้นไม้ถึง 128 ต้นถูกโค่น ถือว่ามีการเข้าทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 10.00 น. จะมีการหารือเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ 2 ข้างทางที่ขยายถนน เบื้องต้นจะมีการปลูกต้นไม้ 2,000 ต้น เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า แต่ยอมรับว่าระบบนิเวศคงไม่เหมือนเดิมแล้ว

ขณะที่นายวิบูลย์ มหาวงษ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ นครราชสีมา ที่ 1 (อ.ปากช่อง) เปิดเผยว่า

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 2 มิ.ย. ตนได้รับมอบหมายให้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.จริศักดิ์ แสนบัว พงส.สภ.ปากช่อง เนื่องจากมีผู้ตัดไม้ข้างถนนธนะรัชต์ ตั้งแต่ กม.ที่ 2-10 มีต้นไม้ถูกตัดโค่น ไถตอ กองไว้ข้างถนน ซึ่งจากการตรวจนับท่อนไม้ที่กองไว้ มีจำนวน 175 ท่อน ท่อนละประมาณ 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 100 ซม. รวมปริมาตร 89.04 ลบ.ม. มีการถากหน้าเขียงเพื่อตีตราประทับ และพบรอยตีตราเลขเรียงประจำต้น ปี พ.ศ. ตราประจำเจ้าหน้าที่ จึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ออป. และเจ้าของเครื่องจักรกลที่มาตัดไม้ ขุดต้นไม้ไถดันไม้ในเขตทางหลวง จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อถามว่า มีไม้ที่ถูกตัดได้หายไปกี่ท่อน นายวิบูลย์กล่าวว่า ตรวจสอบไม่ได้ เพราะไม้แต่ละต้นมีความยาวไม่เท่ากัน ทำให้จำนวนท่อนไม้มีมากกว่าจำนวนที่ขออนุญาตตัด คือ 128 ต้น และไม่สามารถตรวจสอบจากตอไม้ได้

พล.ต.ต.มิสกวัน บัวรา ผบก.ปทส. กล่าวถึงการกระทำความผิดในคดีดังกล่าวว่า สั่งการให้ กก.3 บก.ปทส. เข้าตรวจสอบจำนวนและชนิดต้นไม้ เนื่องจากไม้บางอย่างเป็นไม้หวงห้าม โดยประสานกับกรมป่าไม้ หากเข้าข่ายความผิดจริง จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งภาครัฐและประชาชน สามารถร้องเรียนกับ ปทส.ได้

ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวง

ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการขยายถนน 2090 ระยะทาง 8.1 กม. เส้นทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยนายโสภณกล่าวว่า ได้มาเห็นกับตาตัวเอง พบว่าพื้นที่ในแนวเขตทางไม่ได้เป็นป่าทึบตามอ้าง แต่เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน รีสอร์ต มีการปลูกไม้ยูคาลิปตัส ไร่มันสำปะหลัง และกระถิน ส่วนไม้ใหญ่และไม้หวงห้ามที่ถูกตัดไป 128 ต้น มีการขออนุญาตถูกต้องตามขั้นตอน โดย ออป.เข้ามาดำเนินการและตีตราลงทะเบียนทุกต้น ขณะนี้ได้ฝากไม้ไว้ในพื้นที่สงวนของแขวงการทาง ช่วง กม.ที่ 16 ไม่มีการโยกย้ายไปปลูกบ้านนักการเมืองคนใด

นายโสภณกล่าวต่อว่า การขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน ระยะทาง 8.1 กม.นั้น มีบางส่วนราว 2 กม. ที่ได้ขยายเป็น 4 เลน

ตั้งแต่ปี 2547 ที่เหลือขยายเพิ่มอีกแค่ 6 กม. และปรับปรุงผิวทางเดิม ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนโดยเจ้าหน้าที่แขวงการทาง และ ออป.ในพื้นที่ มีเอกสารหลักฐานยืนยันชัดเจน รวมทั้งได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ สำรวจออกแบบเส้นทาง และ ออป.ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ เข้ามาตรวจสอบต้นไม้ที่อยู่ในเขตทาง มีการลงบันทึกในบัญชี และทำเครื่องหมายสีขาวไว้บนต้นไม้ห้ามตัดอย่างชัดเจน ส่วนกระบวนการตัดและชักลากต้นไม้ เป็นหน้าที่ ออป. กรมทางหลวงไม่เกี่ยวข้องด้วย

"เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของ ออป. และกรมทางหลวงได้ปฏิบัติตามหน้าที่ถูกต้อง แต่ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ระดับบนมีความขัดแย้งกันหรือไม่ และไม่ทราบว่าข่าวที่ระบุว่ามีการนำไม้ไปสร้างบ้านนักการเมืองออกมาได้อย่างไร แต่ที่ยืนยันได้คือ ไม่ใช่นักการเมืองของกระทรวงคมนาคม แน่นอน" นายโสภณกล่าว

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า สำหรับการต่อต้านจากภาคประชาชนนั้น ตนเข้าใจถึงความหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อต้องการความเจริญ ความสะดวกในการเดินทาง ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตัดต้นไม้บ้าง แต่กระทรวงไม่ได้ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ อบต. ของพื้นที่ปลูกป่าทดแทนทุกครั้งที่มีการตัดถนน ขอเรียกร้องให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการให้กรมทางหลวงขยายถนน ควรจะออกมาแสดงความต้องการถึงความจำเป็นในการขยายเส้นทางด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า กรมทางหลวงไปยัดเยียดความเจริญให้ ในส่วนที่กรมทางหลวงมีแผนที่จะดำเนินการขยาย 4 เลนในช่วงที่ 2 ต่อจากส่วนแรกนั้น เป็นเพียงแผนและคงให้ชะลอไว้ก่อนและยังไม่ดำเนินการ แต่ส่วนที่ดำเนินไปแล้วจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป

ด้านนายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ต้นไม้ทั้ง 128 ต้นที่ถูกตัดยังอยู่ครบ และอยู่ในความดูแลของ ออป.

แต่กรมทางหลวงอำนวยความสะดวกในเรื่องพื้นที่จัดเก็บตามที่ได้รับการประสานไว้ ซึ่งไม้ที่ตรวจพบว่ามีการทำเครื่องหมายสีขาวนั้นหมายถึงไม้ห้ามตัด อยู่ในพื้นที่จัดเก็บ เพราะนักวิชาการป่าไม้ได้ลงความเห็นให้ ออป.ดำเนินการตัดเพราะเป็นไม้ขนาดใหญ่ ไม่สามารถชักลากไปปลูกในพื้นที่อื่นได้ และยอมรับว่าพื้นที่เก็บไม้ของกรมทางหลวงเป็นพื้นที่หวงห้าม มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่โดยตลอด แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิด หากมีการลักลอบขโมยไม้ออกจากพื้นที่ก็มีความเป็นไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่คณะของ รมว. คมนาคมลงพื้นที่สำรวจจำนวนต้นไม้ที่ฝากไว้ในพื้นที่แขวงการทาง

ปรากฏว่าได้มีตัวแทนกลุ่มกรีนพีซ นำโดยนายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการกรีนพีซ พร้อมคณะราว 10 คน ได้ชูป้ายเรียกร้องให้หยุดอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ให้กระทรวงคมนาคมหยุดดำเนินการก่อสร้างถนนและกลับมาฟื้นฟูต้นไม้ 2 ข้างทางที่ตัดไปให้กลับคืนดังเดิม และให้หยุดแผนขยายเส้นทางนี้ต่อไปจากพื้นที่เดิมอีก พร้อมประกาศว่าหากไม่หยุด เชื่อว่าจะมีกลุ่มแนวร่วมทั่วประเทศออกมาคัดค้านแน่นอน

นายพิทักษ์ รักอาชีพ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออป. จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการตัดไม้ 2 ริมถนนสายธนะรัชต์

เรื่องนี้ ออป.เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะ จ.นครราชสีมาขอให้ช่วยไปเก็บไม้ที่กีดขวาง ไม้ที่ล้มลง ตัดทอนแล้วเอาไปรวมกองไว้ในที่ดินของแขวงการทางที่ 2 กม.ที่ 16 อยู่ริมทาง มีเนื้อที่ราว 5-6 ไร่ ไม้ที่ตัดไปประกอบด้วย สะเดา 86 ต้น สัก 8 ต้น ประดู่ 5 ต้น นนทรี 4 ต้น กระถินพิมาน 1 ต้น หว้า 4 ต้น อินทนิล 1 ต้น กาสามปีก 8 ต้น คงคาเดือด 4 ต้น มะค่าโมง 2 ต้น ตะแบก 1 ต้น พะยูง 1 ต้น มะหาด 1 ต้น และตะคร้ำ 2 ต้น ยืนยันว่าทุกต้นยังอยู่ครบ และต้องทำบัญชีแจ้งให้กรมป่าไม้ออกสำรวจตรวจวัดและคำนวณคิดค่าภาคหลวง ซึ่งประเมินแล้วว่ามีมูลค่าเพียง 2 แสนบาทเท่านั้น ขั้นตอนต่อไปตามนโยบายของ ออป. จะนำไม้ไปประมูลขายทอดตลาด นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม่เหมาะนำไปสร้างบ้าน เนื่องจากไม้ริมถนนมักมีตำหนิ และมีขนาดน้อยใหญ่ต่างกัน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์