ฤกษ์ดีเปิดบริการกันแล้วสำหรับรถไฟลอยฟ้า "แอร์พอร์ตลิงก์" พญาไท-สุวรรณภูมิ หลังเจอโรคเลื่อนมาจากช่วงปลายปีที่แล้ว
หลายคนฮือฮาไม่น้อย เพราะเมื่อครั้งเปิดสนามบินสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น หลายคนบ่นว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ไกลเหลือเกิน การเดินทางลำบาก ไม่มีรถวิ่ง แต่ต่อไปนี้เสียงบ่นคงเบาบางจางลงไปบ้าง แม้จะไม่หมดเสียทีเดียวก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ชัดเจนก็คืออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางมากขึ้น สามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น ไปไหนมาไหนคล่องตัวมากขึ้น ไม่ต้องหวั่นว่าจะตกเครื่องบินให้เสียอารมณ์
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟมีความพร้อมแล้วที่จะเปิดบริการประชาชน สำหรับโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีผู้โดยสารผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตลิงก์ (Airport Rail Link) โดยจะเปิดให้ทำการทดสอบการเดินรถทุกวันจันทร์-ศุกร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป วันละ 2 ช่วง มีขบวนรถวิ่งเพื่อทดสอบวันละ 38 เที่ยว เริ่มต้นจากสถานีพญาไทไปถึงสถานีรถไฟฟ้าสุวรรณภูมิ โดยไม่จอดสถานีระหว่างทาง ขบวนรถที่วิ่งจะใช้เวลาออกทุก 20 นาทีต่อขบวน ใช้เวลาวิ่งจากต้นทางถึงปลายทางประมาณ 25 นาที
สำหรับคนที่สนใจ สามารถขึ้นโดยสารเพื่อทดสอบได้ 2 ช่วงเวลา คือ เช้าตั้งแต่ 07.00-10.00 น. ส่วนช่วงเย็นจะให้บริการเวลา 16.00-19.00 น. ทั้งนี้จะจัดเจ้าหน้าที่คอยแนะนำและอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง รวมถึงเข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยที่สถานีรถไฟฟ้าอีกด้วย จึงขอให้คนที่ต้องการจะเดินทางไปติดต่อขอรับตั๋วก่อนขึ้นขบวนรถ ณ สถานีรถไฟฟ้าพญาไท และสถานีรถไฟฟ้าสุวรรณภูมิ และปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงาน
ด้านข้อแนะนำอื่นๆ นั้น ระยะแรกนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่นำสัมภาระขนาดใหญ่ จะไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากขบวนรถที่วิ่งให้บริการยังไม่ได้มีตู้ขนส่งสัมภาระ จึงขอให้นำไปเฉพาะที่จำเป็น ส่วนบริการอื่นๆ อาทิ ห้องสุขา สามารถใช้บริการที่สุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ การเปิดวิ่งขบวนรถนี้ จะวิ่งจากต้นทางถึงปลายทางในช่วงระยะ 1-2 สัปดาห์ และจะเพิ่มการหยุดที่สถานีระหว่างทาง เช่น สถานีหัวหมากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ ต่อไป ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1690 หรือ www.Railway.co.th หรือ โทรศัพท์ 0-2222-0175, 0-2220-2468 ในวันเวลาราชการ ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์นั้น คาดว่าจะสามารถให้บริการได้เร็วๆ นี้ สำหรับอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารเอ็กซ์เพรสไลน์ วิ่งจากสถานีมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ไม่เกิน 150 บาท ซิตี้ไลน์ตั้งแต่ 15 บาท และสูงสุดไม่เกิน 40 บาท
ด้านนายปริญญา คงรอด อายุ 33 ปี ชาวเขตบางพลัด กทม. บอกว่า เป็นที่น่ายินดีของทุกคน เพราะจะมีความสะดวกในการเข้าใช้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางมาทำงานในชั้นในของกรุงเทพฯ คิดว่าจะช่วยให้ลดปัญหาการจราจรได้ และถ้ามีการประชาสัมพันธ์ที่ดีแล้วคนก็จะแห่เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทั้งสะดวกสบาย และไม่ต้องนำรถส่วนตัวเข้าไป ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลนำมาใช้ในการสร้างนั้นต้องดูว่างบที่รัฐบาลให้มานั้นถูกนำมาใช้ในการสร้างอย่างโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน มีการคอร์รัปชันกันหรือเปล่า เพราะงบประมาณเหล่านั้นก็มาจากภาษีของประชาชนทุกคน ถ้านำมาใช้โดยโปร่งใสแล้ว แอร์พอร์ตลิงก์ก็เป็นการลงทุนของรัฐบาลที่คุ้มค่า
น.ส.รัฟลายล่า พฤษกษมาศ อายุ 30 ปี ชาวเขตบางกะปิ กทม. บอกว่า เป็นทางเลือกที่ดีของประชาชนที่ใช้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ คิดว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรในเส้นทางที่มุ่งสู่สนามบินสุวรรณภูมิได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจำนวนของประชาชนที่จะมาใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ น่าจะเป็นชาวต่างชาติมากกว่าประชาชนชาวไทยเพราะคนต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไมว่าจะท่องเที่ยวหรือทำงาน ทั้งนี้ ในต่างประเทศ แอร์พอร์ตลิงก์นี้มีมานานแล้ว และชาวต่างชาติจะคุ้นเคยมาก
"โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ แอร์พอร์ตลิงก์"
เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เดินทางไปด้วยเวลาที่เร็วมากขึ้น โดยมีผู้ดำเนินการก่อสร้างคือการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท อนาคตจะทำการขยายไปจนถึงสถานีรถไฟดอนเมืองเพื่อเชื่อมต่อกับท่อากาศยานสุวรรณภูมิ
ได้ฤกษ์ แอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งฉิว...วว
รูปแบบการให้บริการ
ได้ทำการก่อสร้างโครงการระบบขนส่ง เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองหลวงไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นระยะทาง 28.6 กิโลเมตร โดยมีรูปแบบการให้บริการเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. ให้บริการรถไฟฟ้าปรับอากาศความเร็วสูง วิ่งระหว่างสถานีมักกะสัน-อโศกถึงสถานีสุวรรณภูมิใช้เวลา 15 นาที
2. ให้บริการรับส่งระหว่างทางเริ่มต้นที่สถานีพญาไท ผ่านทั้งหมด 7 สถานี ได้แก่ ราชปรารภ มักกะสัน-อโศก รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง ถึงปลายทางที่สถานีสุวรรณภูมิใช้เวลา 28 นาที
3. เป็นสถานีแห่งเดียวที่ผู้โดยสารสามารถนำสัมภาระมาเช็คอินเข้าสู่บริการขนถ่ายสัมภาระไปยังสนามบินสุวรรณภูมิได้เลย
รถไฟฟ้าที่จะใช้ในโครงการนี้ เป็นขบวนรถ Desiro UK Class 360 ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ผลิตโดยบริษัท ซีเมนส์ มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลักษณะภายในรถจะแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1. ขบวนรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศสุวรรณภูมิ จะมีเก้าอี้แบบแข็งสองแถวตั้งตามความยาวของตัวรถ และ 2. ขบวนรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิ จะเป็นเบาะกำมะหยี่ตำแหน่งตามความกว้างของของรถแบ่งเป็นสองแถว แถวละสองที่นั่ง โดยเป็นรถปรับอากาศทั้งสองแบบ