ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจ้งว่า
ในวันที่ 26 มิถุนายน2553 จะมีปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืด (ของโลก) บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไป เหตุการณ์ครั้งนี้เห็นได้พร้อมกัน ครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลก ตั้งแต่ด้านตะวันออกของทวีปเอเชีย ออสเตรเลียบางส่วน มหาสมุทรแปซิฟิก จนถึงด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ส่วนบริเวณที่สามารถเห็นได้ตลอดทุกเหตุการณ์ คือ ด้านตะวันออกของออสเตรเลีย รวมถึงมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ตั้งแต่ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 18.47 น.
ซึ่งขณะนั้น ดวงจันทร์ถูกบดบังไปมากที่สุดแล้ว และกำลังจะเคลื่อนออกจากเงามืดเข้าสู่เงามัว โดยจะสังเกตเห็นดวงจันทร์แหว่งอย่างชัดเจน ตั้งแต่เวลา 18.47-20.00 น. แต่อาจจะเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ยาก เนื่องจากดวงจันทร์เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้ามุมเงย 0-14 องศา ในช่วงเวลา 18.47-20.00 น. หรือช่วงก่อนดวงจันทร์ออกจากเงามืด ซึ่งเป็นมุมเงยที่ต่ำมาก มีโอกาสถูกตึก หรือต้นไม้บดบัง ดังนั้น จึงต้องเลือกสถานที่สังเกตการณ์ให้เหมาะสม เช่น ภูเขาสูง ดาดฟ้า หรืออาคารสูงที่สามารถมองเห็นขอบฟ้าตะวันออกได้ชัดเจน โดยไม่มีสิ่งบดบัง และเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวอาจไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างจันทรุปราคาเงามัวกับจันทร์เพ็ญได้ เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์ดังกล่าวใกล้เคียงกันมาก.
(รูป) แสดงลำดับเหตุการณ์การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน วันที่ 26 มิถุนายน 2553 ตามเวลาในประเทศไทย