วันที่ 23 พ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 2,214 คน
ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค. 2553 ถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังเหตุรุนแรง พบว่าส่วนใหญ่มีความรู้สึกกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า เศร้าใจ เสียใจ หดหู่ใจ ที่เห็นคนไทยต้องมาทะเลาะกันเองถึงขั้นเสียชีวิต และเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องจดจำไปอีกนาน
ส่วนวิธีการฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.61 เห็นว่าคนไทยทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟันเหตุการณ์ร้ายนี้ให้ผ่านไป
และเป็นกำลังใจให้กันและกัน รองลงมา เห็นว่ารัฐบาลต้องดูแล ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ครอบครัว ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ที่ตกงานอย่างเร่งด่วน ที่เหลือเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณ สุข กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน ต้องเร่งหามาตรการหรือแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไทย ส่งเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครลงไปในพื้นที่เพื่อเยียว ยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ
ส่วนผลกระทบจากการประท้วงและมีการสลายการชุมนุม 3 อันดับแรก คือ
1.ด้านเศรษฐกิจ ต่างประเทศไม่ไว้วางใจในความปลอดภัย ไม่เชื่อมั่นในการลงทุน มีคนไทยจำนวนหนึ่งต้องตกงาน 2.ด้านสังคม เพราะส่งผลกระทบต่อจิตใจคนไทยทั้งประเทศ เป็นการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เด็กและเยาวชนอาจลอกเลียนแบบ 3.ด้านความเชื่อมั่นของต่างประเทศ การให้บ้านเมืองสงบสุข และจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ร้อยละ 61.39 ระบุว่า ต้องปลูกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนรักกัน สมัครสมานสามัคคี ปรองดองกัน รักชาติบ้านเมือง ร้อยละ 16.27 ระบุว่าต้องปฏิรูปโครงสร้างของประเทศไทยในทุกด้านควบคู่กันไป โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ร้อยละ 11.90 ต้องให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ร้อยละ 10.44 เห็นว่านักการเมืองต้องมีคุณธรรม จริยธรรม บริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
ประชาชนยังเห็นว่า บทเรียนที่ได้รับจากการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา เป็นการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่ประเมินค่ามิได้ ส่วนการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่สะดวกมากขึ้น