ระบุอาคารทั้ง 34 แห่งทั่วกรุง มีโอกาสถล่มได้ตลอดเวลา การสำรวจ-รื้อถอน ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. จากกรณีเกิดเหตุลอบวางเพลิงอาคารหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตามรายงานจากกรุงเทพมหานคร ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้รวม 34 แห่งนั้น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร (ตปอ.) เห็นว่าอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนจากการถล่มลง มาทั้งหลังหรือบางส่วน ทั้งนี้ประชาชนทั้งผู้หวังดีและประสงค์ร้ายได้เข้าไปในอาคาร หรือสัญจรผ่านไปมาบริเวณอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ที่ก่อสร้างในประเทศไทยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งมีอัตราการทนไฟอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ต่างจากอาคารโครงสร้างเหล็กหรือไม้ที่สูญเสียกำลังและเกิดการวิบัติได้ภายใน เวลาอันรวดเร็ว อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่เป็นอาคารตึกแถวหรือขนาดเล็กๆ ทนไฟได้ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ส่วนอาคารสูงหรืออาคารใหญ่พิเศษอาจทนไฟได้นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีโอกาสถล่มได้ตลอดเวลา การเข้าไปสำรวจ รื้อถอน หรือปรับปรุงอาคารอาจต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะบางกรณีต้องเสริมกำลังให้โครงสร้างก่อนดำเนินการใดๆ ด้วยการปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งทาง วสท. วปท. และ ตปอ. ยินดีสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการสำรวจอาคารดังกล่าวเพื่อให้มีความปลอดภัย
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการฉีดน้ำดับเพลิงอาจเป็นสาเหตุให้อาคารถล่มลง มาได้นั้น ทางสมาคมฯ มีความเห็นว่า การดับเพลิงด้วยน้ำของพนักงานดับเพลิงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อควบคุมเพลิงไหม้ให้อยู่ในวงจำกัดด้วยการลดความร้อนที่อาจทำให้เกิดการ ถล่มบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งพนักงานดับเพลิงที่มีความสามารถจะหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำจำนวนมากๆ ในบริเวณเดียวกันนานๆ เนื่องจากอาจทำให้พื้นอาคารถล่มลงได้.
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์