ด่วน !พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศเฮ

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันนี้ (๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓)    ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ  พ.ศ. ๒๕๕๓   

โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ปีที่ ๖๐ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่  ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศล และเพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี  อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป 

  
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เป็นต้นไป หรือวันอาทิตย์ที่    ๑๖  พฤษภาคม


สำหรับ นิยามความหมายสำคัญตาม  พระราชกฤษฎีกา  ประกอบด้วย


    - “ผู้ต้องกักขัง” หมายความว่า ผู้ต้องโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


     -“ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ” หมายความว่า ผู้ต้องโทษปรับ  ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ  แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับโดยผู้นั้นได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล  และมิได้กระทำผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด


    - “ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ได้รับการพัก  การลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร หรือได้รับการลดวัน  ต้องโทษจำคุกตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษหรือ  การลดวันต้องโทษจำคุกก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


   -“นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า ผู้ซึ่งในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเป็นนักโทษเด็ดขาด  ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ หรือนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร


   - “กำหนดโทษ” หมายความว่า กำหนดโทษที่ศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือกำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษหรือกำหนดโทษ  ดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น


     -“ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก” หมายความว่า ต้องโทษเพราะถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก  ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี โดยมิได้ถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดอีก



  ทั้งนี้    ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ใน  ความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือ  นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ


     มาตรา ๕ ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป  (๑) ผู้ต้องกักขัง   (๒) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ  (๓) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ


  กรณีผู้ต้องกักขัง ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขัง  แทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี


    มาตรา ๖  กำหนดว่า   นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป


(๑) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษ ที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ


(๒) ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้


(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่ง แพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด


(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้   ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้ว   ถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกำหนดโทษ   เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้


(ค) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒ ของโทษตามกำหนดโทษ


(ง) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่อ  อยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปี  นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป


(จ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่  พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๒  ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ


(ฉ) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้  ใช้บังคับ


   มาตรา ๗     นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา ๖ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ  ลดโทษ ดังต่อไปนี้


(๑) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต


(๒) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร


   ดังต่อไปนี้   ชั้นเยี่ยม ๑ ใน ๔   ชั้นดีมาก ๑ ใน ๕   ชั้นดี ๑ ใน ๖   ชั้นกลาง ๑ ใน ๗   โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น  ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น


(๓) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด  ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ตาม (๒)


(๔) ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วย  หรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง ๒ ใน ๓ เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์