กฟผ.เผยเศรษฐกิจฟื้นและอากาศที่ร้อนจัดทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดเป็นครั้งที่ 10 ปลัดก.พลังงาน หวั่นทำไฟตก-ดับ เตรียมหารือวางแผนเพิ่มกำลังผลิตสำรอง นายบรรพต แสงเขียว รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)เพิ่มขึ้นเท่ากับ 24,009.9 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.00น.วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 10 ของปีนี้ ทำลายสถิติพีคปี 2552 เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ระดับ 22,044.9 เมกะวัตต์ เพิ่มสูงขึ้น 8.9% และยังสูงกว่าประมาณการในค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าปี 2553 ที่ใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) 2010 ที่พยากรณ์ พีคปีนี้เท่ากับ 23,249 เมกะวัตต์ หรือพีคสูงกว่าคาดการณ์กว่า 700 เมกะวัตต์
"ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินกว่าคาดนั้นมีปริมาณเทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 โรง โดยสาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า"นายบรรพตกล่าว
ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ใ ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) กฟผ. เปิดเผยว่า
ในสัปดาห์หน้า กระทรวงจะหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และกฟผ. เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายทันที (spinning reserve) หลังจากเกิดพีคดังกล่าว นายพรชัย กล่าวว่า กำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่เชื่อมต่อในระบบ ทั้งระบบในทุกช่วงเวลาตลอดวัน มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดการณ์ไว้ หรือที่เรียกว่ากำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายทันที ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 700-1,400 เมกะวัตต์ โดยปีหน้า หากพีคเพิ่มขึ้นจากปีนี้ในอัตราที่เท่ากัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ แต่กฟผ. ไม่มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายทันทีเหลืออยู่ จะทำให้การสั่งจ่ายไฟฟ้ามีปัญหาได้และอาจจะเกิดกรณีไฟฟ้าตกและดับได้ จากกรณีดังกล่าว นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการกฟผ. ได้สั่งให้มีการเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระบบไฟฟ้าอย่างสูงสุด ทั้งโรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า สายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า โดยตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจ เฝ้าระวังเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อจัดให้มีกำลังสำรองพร้อมจ่ายทันที ให้มากกว่าช่วงปกติโดยให้อยู่ในช่วง 2,000-3,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับกรณีที่ระบบส่งถูกทำลายหรือโรงไฟฟ้าหลายๆโรงขัดข้องพร้อมกัน
“กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องมีมาตรการการจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในปีหน้าหากเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศยังคงร้อนอบอ้าวเหมือนปีนี้ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีมาตรการใดๆรองรับ การสั่งจ่ายไฟฟ้าในระบบอาจจะมีปัญหาได้” นายพรชัย กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่เตรียมรองรับไว้คือการหาแนวทางที่จะยืดอายุโรงไฟฟ้าที่จะต้องปลดระวางออกจากระบบ
ซึ่งคิดเป็นประมาณ 17,000 เมกะวัตต์ ออกไปอีกในบางโรงที่สามารถจะดำเนินการได้ รวมทั้งการเร่งให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก(เอสพีพี) ประมาณ 90 เมกะวัตต์ รวมอีกประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้เร็ว เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกฟผ. ปีนี้เกิดพีคแล้วรวม 10 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมีนาคม รวม 6 ครั้ง
ได้แก่ วันที่ 2 มีนาคม เท่ากับ 22,185.80 เมกะวัตต์ วันที่ 3 มีนาคม เท่ากับ 22,406.40 เมกะวัตต์ วันที่ 8 มีนาคม เท่ากับ 22,542.20 เมกะวัตต์ วันที่ 9 มีนาคม เท่ากับ 22,649.78 เมกะวัตต์ วันที่ 16 มีนาคม เท่ากับ 23,143.26 เมกะวัตต์ และวันที่ 25 มีนาคม เท่ากับ 23,304.05 เมกะวัตต์ เดือนเมษายน เกิดพีครวม 3 ครั้ง คือวันที่ 5 เมษายน เท่ากับ 23,529.69 เมกะวัตต์ วันที่ 6 เมษายน เท่ากับ 23,730.21 เมกะวัตต์ และวันที่ 22 เมษายน เท่ากับ 23,897.72 เมกะวัตต์ และครั้งที่ 10 วันที่ 10 พฤษภาคม เท่ากับ 24,009.9 เมกะวัตต์
ศก.ฟื้น-ร้อนจัดทำยอดใช้ไฟพุ่งสูงสุด10ครั้ง พลังงานหวั่นตก-ดับ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ศก.ฟื้น-ร้อนจัดทำยอดใช้ไฟพุ่งสูงสุด10ครั้ง พลังงานหวั่นตก-ดับ