วุ่นไม่เลิกประกาศผลแอดมิชชั่น แค่วันแรกนักเรียนแห่ร้องเรียนอื้อทะลุ 100 ราย ทั้งคิดคะแนนโอเน็ตผิดพลาด-ถูกตัดสิทธิ์ทั้งที่สละสิทธิ์รับตรงแล้ว ทำให้หลุดโผแอดมิชชั่นและไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตามที่ใจหวัง ด้านนายกสมาคมอธิการบดีฯ เสียงอ่อยน้อมรับผิด เตือนนักเรียนเร่งติดต่อสอท.ภายใน 12 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
หลังจากที่สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลาง ประจำปีการศึกษา 2553 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ของ สอท. www.cuas.or.th และเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ร่วมประกาศผลอีก 20 แห่ง ผลปรากฏว่าการประกาศผลไม่มีปัญหาเว็บไซต์ล่ม แต่ยังคงมีนักเรียนประมาณ 100 ราย โทรศัพท์และเดินทางมาร้องเรียนถึงปัญหาแอดมิชชั่น
แอดมิชชั่นวุ่น! ร้องถูกตัดสิทธิ
ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดประมาณ 80 ราย คือ
การถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลาง ทั้งที่เด็กได้สละสิทธิ์ในการรับตรงกับทาง มหาวิทยาลัยแล้ว และส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะมีคะแนนสูงกว่าเด็กที่ได้คะแนนต่ำสุดของคณะที่เด็กเลือก ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่พบ อาทิ นักเรียนลืมเลขที่สมัครแอดมิชชั่น จึงไม่สามารถเข้าไปดูผลการคัดเลือกได้
นายธเนศพล พงศ์ทิพย์ฤกษ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล หนึ่งในเด็กที่เดินทางมาร้องเรียนที่สอท. กล่าวว่า
ตนสมัครแอดมิชชั่นกลาง โดยเลือกไว้ 4 อันดับ ได้แก่ 1.คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้า ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 2.คณะบริหารธุรกิจสาขาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์ 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้า ม.มหิดล และ 4.คณะวิศวกรรม ศาสตร์สาขาวัสดุ มจธ. แต่เมื่อเข้าไปดูการประกาศผลสอบแอดมิชชั่นกลางปรากฏว่า ไม่พบชื่อ จึงได้มาตรวจสอบที่สอท. ซึ่งเจ้าหน้าที่สอท.แจ้งว่า สาเหตุที่ไม่ติดแอดมิชชั่น เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ของคณะที่กำหนด
นายธเนศพล กล่าวต่อว่า
จะต้องมีคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) รวม 5 วิชาหลัก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 แต่เมื่อมาตรวจสอบกับทางสอท.พบว่า ตนได้คะแนนโอเน็ตวิชาวิทยา ศาสตร์อยู่ที่ร้อยละ 27.50 โดยต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกำหนด ซึ่งรู้สึกแปลกใจเพราะคะแนนโอเน็ตวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตนใช้ยื่นสมัครแอดมิชชั่นกลางมากกว่าที่เกณฑ์กำหนดโดยอยู่ที่ร้อยละ 36.25 ทั้งนี้ก่อนยื่นคะแนนสมัครแอดมิชชั่นได้ตรวจสอบคะแนนโอเน็ตทุกวิชาแล้ว เพราะมีประกาศ สทศ.แจ้งว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงคะแนน โอเน็ต เนื่องจากมีการตรวจข้อสอบใหม่ ก็พบว่าคะแนนโอเน็ตของตนทุกวิชาเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
"เจ้าหน้าที่สอท.ได้แนะนำให้ไปตรวจสอบกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพราะสทศ.ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ผมได้ไปที่สทศ.แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าขอตรวจสอบข้อมูลก่อนและจะโทรศัพท์มาแจ้งในวันที่ 11 พ.ค.นี้" นายธเนศพล กล่าว
ด้านนายศุภชัย เลิศประเสริฐภากร นัก เรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า
เข้าไปเช็กผลแอดมิชชั่น ปรากฏว่า สอบไม่ติดทั้งที่ตนเองได้คะแนนมากกว่าคะแนนต่ำสุดของคณะที่เลือก ตนจึงได้โทร. สอบถามมายังสอท.เพื่อให้ตรวจสอบถึงสาเหตุที่สอบไม่ติด โดยเจ้าหน้าที่สอท.แจ้งกลับมาว่าตนใช้ผลคะแนนโอเน็ตไม่ตรงกับปีการศึกษาที่จบ จึงทำให้ระบบของสอท.ไม่ประมวลผลให้ แต่พอวันรุ่งขึ้นสอท.กลับโทร.แจ้งว่าตนสอบติดในคณะที่เลือก และขอให้ไปรายงานตัวและสอบสัมภาษณ์ในวันและเวลาที่กำหนดโดยที่ไม่บอกเหตุผลของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ทางด้านนายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประ เทศไทย (ทปอ.) และนายกสมาคม สอท. เปิดเผยว่า
ปัญหาการถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลางนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้นักเรียนกลับไปติดต่อมหาวิทยาลัยโดยตรง และหากพบว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวนักเรียน ทางมหาวิทยาลัยจะต้องคืนสิทธิ์ให้แก่นักเรียน เพื่อให้สอท.ประมวลผลการคัดเลือกให้เด็กกลุ่มนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามขอให้นักเรียนที่ประสบปัญหาดังกล่าวรีบติดต่อมหาวิทยาลัยภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่เด็กร้องเรียนมา อาทิ คิดคะแนนผิด หรือดึงคะแนนผิดมาใช้ประมวลผลการคัดเลือกนั้น ขอให้รีบติดต่อสอท.ภาย ในวันที่ 12 พ.ค.นี้เช่นเดียวกัน เพื่อที่สอท. จะได้เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขปัญหาให้โดยเร็ว
นายประสาท กล่าวต่อว่า
ส่วนกรณีที่มีการดึงคะแนนโอเน็ตมาใช้ประมวลผลผิดพลาดนั้น ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ทำโปรแกรมการประมวลผลที่กำหนดไว้ว่าเด็กต้องมีคะแนนโอเน็ตในปีเดียวกับปีการศึกษาที่จบเท่านั้น จึงทำให้เด็กที่มีคะแนนโอเน็ตไม่ตรงกับปีการศึกษาที่จบจึงไม่ได้รับการประมวลผล อย่างไรก็ตามกรณีที่เด็กส่วนหนึ่งไม่ได้จบตามรุ่น เนื่อง จากบางคนติด 0 หรือติดรอการประเมินผล ดังนั้นจึงทำให้คะแนนโอเน็ตกับปีการศึกษาที่จบไม่ตรงกัน และเมื่อมีการร้องเรียนมา สอท.ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีกรณีเช่นนี้ทั้งหมด 21 ราย และสอท.ได้ประมวลผลให้เด็กเหล่านี้พร้อมทั้งแจ้งไปที่เด็กและมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว
"ทั้งนี้ การที่เพิ่มที่นั่งให้กับเด็ก 21 รายนี้ รวมทั้งเด็กที่มหาวิทยาลัยคืนสิทธิ์ให้กรณีถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลาง จะไม่กระทบกับการประมวลผลในภาพรวม เนื่องจากสอท. ได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอที่นั่งเพิ่ม แต่เท่าที่ดูส่วนใหญ่เด็กกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้สมัครในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ เช่น พยาบาล เภสัชกรรม ฯลฯ แต่หากมีสาขาใดเกี่ยวข้องคงต้องขอความอนุเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการแอดมิชชั่นในปีต่อไป" นายกสมาคม สอท. กล่าว
นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. กล่าวว่า
สทศ.จะกลับไปตรวจสอบข้อมูลของนักเรียนที่แจ้งว่าคะแนนโอเน็ตที่สอท.นำไปประมวลผลกับคะแนนโอเน็ตที่เด็กนำมายื่นสมัครแอดมิชชั่น เหตุใดจึงมีคะแนนที่ไม่ตรงกัน จะมีการตรวจเช็กอีกครั้ง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการตรวจข้อสอบวิชาวิทยา ศาสตร์ พบว่ามีข้อผิดพลาดเรื่องการให้คะแนนบางข้อ ทำให้สทศ.ต้องยกประโยชน์ให้แก่เด็กหรือให้คะแนนฟรีประมาณ 2-3 คะแนน ดังนั้นเด็กไม่ควรที่จะได้คะแนนลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้น