แห่หนุนโรดแม็พ-ผลวิจัยชี้ความสุขพุ่ง

 

คมชัดลึก :ปชช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยโรดแมป ชี้ ระดับความสุขพุ่ง 6.72 หลัง นปช.ประกาศรับแนวทางปรองดอง ช่วยปกป้องสถาบันไม่ให้ถูกดึงสู่ประเด็นขัดแย้งทางการเมือง ระบุเลือกตั้งกลางเดือน พ.ย.เหมาะสม


นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.5 ค่อนข้างเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวทางเพื่อสร้างความปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

โดยร้อยละ 54.3 เชื่อมั่นต่อการปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกดึงเข้าสู่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ร้อยละ 14.2 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 31.5 ไม่มีความเห็น ในขณะที่ร้อยละ 55.4 เชื่อมั่นต่อการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ร้อยละ 22.3 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 22.3 เช่นกันไม่มีความเห็น


ที่น่าเป็นห่วงคือ เพียงร้อยละ 39.8 เชื่อมั่นต่อการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน

แต่ร้อยละ 38.9 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 21.3 ไม่มีความเห็น นอกจากนี้ ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 44.9 เชื่อมั่นต่อการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ของสื่อมวลชน และเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.6 ที่เชื่อมั่นต่อการตั้งกฎกติกาทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย


อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.6 มองว่าการจัดการเลือกตั้งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว แต่ร้อยละ 16.1 มองว่าช้าเกินไป และร้อยละ 28.3 มองว่าเร็วเกินไป


แต่ที่น่าพิจารณาคือ ความสุขของประชาชนสูงถึง 6.72 จากระดับความสุขเต็มที่ 10.00 คะแนน หลังทราบข่าวกลุ่ม นปช. ประกาศรับแนวทางการปรองดอง 5 ข้อ อย่างไรก็ตาม ประชาชนก้ำกึ่งกันคือประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.2 เท่านั้นที่เลือกที่จะหวังและก้าวต่อไปข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 49.8 ที่ยังคงกังวลและหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศไทย


ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า วันนี้น่าจะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีของคนไทยเพราะสิ่งที่มีผลต่อความสุขของประชาชนอย่างมากในระยะสั้นคือ

การที่กลุ่ม นปช. ประกาศรับแนวทางสร้างความปรองดอง 5 ข้อ ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งทำให้สาธารณชนทั่วไปรับทราบถึง เจตนาที่ดีของกลุ่ม นปช. ครั้งนี้ด้วย โดยให้ออกมาในรูปของชัยชนะของทุกๆ ฝ่าย มากกว่าการนำเสนอข้อมูลให้สาธารณชนเข้าใจว่า เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลหรือของนายกรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศแนวทางปรองดอง 5 ข้อของนายกรัฐมนตรีนั้นต้องมีแผนภาพและช่วงเวลาออกมาให้ชัดเจนสู่สาธารณชนว่า จะมีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าแนวทางทั้งหมดจะเป็นจริงขึ้นมาได้ที่ไม่ใช่เป็นเพียงคำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความเป็นธรรมในสังคม และการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ของสื่อมวลชน


จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่างร้อยละ 49.9 เป็นชาย ร้อยละ 50.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.2 อายุระหว่าง 20 - 29 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ร้อยละ 23.7 อายุระหว่าง 40 - 49 ปี และร้อยละ 27.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 75.0  สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 24.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 15.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์