ลูกจ้างยื่น 9 ข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลช่วยเหลือ จี้ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีนายจ้างปิดโรงงานหนี ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างห้ามขายรัฐวิสาหกิจ นายกฯ โวรัฐบาลใช้มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ช่วยกรรมกรพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลก
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เวลา 07.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้าง 12 สภา และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย
นำโดยนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน และนายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงาน แห่งประเทศไทย จัดพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จากนั้นได้เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังท้องสนามหลวง เพื่อทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมและนิทรรศการเกี่ยวกับแรงงานจากทุกหน่วยงานให้ประชาชนที่สนใจมาเข้าชม ซึ่งต่อมานายทวีได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมี รมว.แรงงานเป็นผู้รับมอบ โดยข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้
1.รัฐต้องจัดตั้งกองทุน ประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน
2.รัฐต้องยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีค่าชดเชย และเงินได้อื่นๆซึ่งเป็นงวดสุดท้าย
3.รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 มาตรา 118 ให้ลูกจ้าง จากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไปจ่าย 10 เดือน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไป เพิ่มอีกปีละ 1 เดือน
4.เรื่องประกันสังคม รัฐต้องขยาย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 กรณีป่วยเนื่องจากการทำงานให้มีสิทธิการรักษาพยาบาลเหมือนกับผู้ประกันตนใน พ.ร.บ.ประกันสังคม รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 กรณีจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนจ่ายเท่าเดียว รัฐต้องแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์
5.รัฐต้องยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2552 และการขายรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ
6.ให้รัฐบาลลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)
7.รัฐต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
8.รัฐต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการหรือในนิคมอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี โดยให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำค่าใช้จ่ายในกิจกรรมนี้ไปลดหย่อนภาษีได้
9.รัฐต้องตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2553
วันเดียวกัน ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ได้กล่าวปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่ารัฐบาลตระหนักในความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน มุ่งมั่นดำเนินการให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดมา สถานการณ์ด้านแรงงานของประเทศ ไทยในปีนี้ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากความตกต่ำอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบเลิกกิจการ หรือจำเป็นต้องลดการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่จากการที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งในประเทศและในนานาประเทศได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทยและของโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ สถานการณ์ด้านแรงงานดีขึ้นเช่นเดียวกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานหลายด้าน ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากผ่านพ้นสภาพวิกฤติ
โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อชะลอการเลิกจ้าง การดำเนินมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม การขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินประกันสังคมกรณีว่างงาน จากเดิมไม่เกิน 180 วัน เป็นไม่เกิน 240 วัน และการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมชั่วคราว การเตรียมขยายความคุ้มครองประกันสังคมแก่ คู่สมรสและบุตรให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การเพิ่มสวัสดิการโครงการ "สวัสดิการ บ้าน สำนักงานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน" และปรับปรุง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2553 เพื่อเพิ่มขอบเขตความคุ้มครองและสิทธิของลูกจ้างและผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น