ภาพบรรยากาศผู้โดยสารออกันริมทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเกือบทุกสถานีของเช้าตรู่วันที่ 27 เม.ย.
ภายหลังบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ได้นำประกาศไปติดบริเวณปากทางเข้าสถานีโดยระบุว่า หยุดการเดินรถทุกสถานี ภายหลังที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนำยางรถยนต์ขึ้นไปวางไว้บนรางรถไฟฟ้า ทุกคนตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังได้สติทุกคนต่างมีอารมณ์ขุ่นมัว พร้อมกับคิดหาแผนการเดินทาง โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้างานตามกะตามเวลาเป็นที่โกลาหลวุ่นวายกันไปหมด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็หยุดๆวิ่งๆ และอนาคตก็ยังไม่แน่นอน ยังจะหยุด ๆ วิ่งๆ ไม่สะดวก สะบาย เหมือนที่เราได้เห็นในภาพยนต์ "รถไฟฟ้า มาหานะเธอ" เป็นแน่แท้
สะท้อนเสียงผ่าน "ไทยรัฐออนไลน์" นายอนุสรณ์ วงศ์เหรียญทอง อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่การตลาด มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตหรือศูนย์สีลม บอกว่า ตอนเช้าวันที่ 27 เม.ย.นั้น ไม่ทราบว่ามีการหยุดเดินรถ และไม่ได้เปิดโทรทัศน์ดู พอเดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอ่อนนุช ก็ทราบว่ารถไฟฟ้าปิดบริการแล้ว ก็เกิดอาการงงๆ นิดหน่อย และก็มีผู้ที่ไม่ทราบข่าวการหยุดเดินรถเหมือนกันนับร้อยคน ต้องเลี่ยงไปใช้บริการรถเมล์ซึ่งเสียเวลากว่าปกติมาก
"อยากให้รถไฟฟ้าบีทีเอสยืดระยะเวลาการเดินรถออกไปอีก2-3ชั่วโมง และ มีมาตราการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากกว่าการที่จะมาปิดให้บริการเดินรถ สำหรับการแจ้งข่าวสารของเจ้าหน้าที่นั้นช้าและมีการกระจายข่าวที่ไม่ทั่วถึงทำให้ผู้ใช้บริการต้องประสบปัญหาอย่างมากและคิดว่าปัญหาเช่นนี้คงจะเกิดต่อไปอีกนานถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ออกไปจากแยกศาลาแดง และอยากให้ทุกฝ่ายคุยกันเพื่อหาข้อยุติ เพราะตอนนี้ประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน"นายอนุสรณ์กล่าว
รถไฟฟ้าไม่มา(นะเธอ) ทุกข์ชาวกรุง ในวันประท้วงเดือด
ส่วน น.ส.วรรณกร ขันติพงษ์ อายุ 33 ปี ลูกจ้างบริษัท เอเวอร์กรีน ย่านราชเทวีบอกว่า จะเปิดโทรทัศน์ดูตอนเช้าเพื่อตรวจสอบ ถ้ามีการหยุดให้บริการบีทีเอส ก็จะโดยสารโดยรถแท็กซี่ ซึ่งเสียทั้งเงินและเวลามากกว่าการเดินทางโดยรถไฟฟ้า แต่ก็คุ้มสำหรับการรักษาความปลอดภัยของตัวเราเอง เพราะถ้ายังเดินทางกับรถไฟฟ้าบีทีเอส อาจได้รับอันตรายได้ "อยากให้รัฐบาลยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เพราะจะเป็นการยุติปัญหาทั้งหมด จะไม่มีการนองเลือดหรือการชุมนุมของคนเสื้อสีต่างๆอีก"
ขณะที่ น.ส.อัญชลีพร ไตรพิทักษ์กุล พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ย่านเพลินจิต กล่าวว่า เช็คเวลาการให้บริการโดยโทรทัศน์และสอบถามทาง hotline ของบีทีเอส แต่จะโทรฯติดยากมาก จะเช็คแบบวันต่อวัน ถ้าวันไหนไม่เปิดเดินรถก็จะลำบากมาก เพราะต้องใช้บริการแท็กซี่แทนซึ่งเสียเวลากว่าการนั่งรถไฟฟ้ามาก ส่งผลต่อเวลาการทำงานเพราะเราจะไม่มีเวลาเตรียมตัวก่อนการทำงานต้องเผื่อเวลาการเดินทางมากขึ้น
สำหรับการแจ้งข่าวสารของบีทีเอสนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะล่าช้า ข้อมูลบางที่ก็ไม่ตรงกัน เช่น ตอนโทรศัพท์เข้าไปสอบถาม ก็มีคำตอบว่ายังไม่เปิดให้บริการ แต่เจอเพื่อนที่ใช้บอกไม่ตรงกันว่า วันนี้ยังใช้บริการอยู่เลย ก็รู้สึกสับสนเล็กน้อย "อยากให้เลิกชุมนุมแล้วหันมาตกลงกันดีกว่าเพราะตอนนี้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนไปหมดแล้ว"
น.ส. ภคินี เทียมคลี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ บริษัท PC&A ย่านลาดพร้าว กล่าวว่า รถใต้ดินก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยวันที่เกิดเหตุระเบิดที่สีลมนั้น เปิดให้บริการถึงแค่สถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสถานีที่คนใช้บริการมากและเป็นสถานีก่อนถึงจุดเชื่อมต่อสถานีสุขุมวิทเพื่อเปลี่ยนเส้นทางซึ่งสถานีนี้ไม่เปิดให้บริการ ทำให้การเดินทางช่วงต่อจากรัชดาไปสุขุมวิทเป็นไปด้วยความยากลำบาก รถเมล์ไม่พอ แท็กซี่ก็หายาก เพราะคนแย่งกันใช้บริการ
ส่วนของการกระจายข่าวนั้นถือว่าล้มเหลวเพราะไม่มีป้ายเขียนเตือนว่าปิดให้บริการ คนใช้รถไฟใต้ดินพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเดือดร้อนมาก ควรประชาสัมพันธ์ก่อนปิดให้บริการและไม่ควรหยุดให้บริการในสถานีที่สำคัญๆ หน้าสถานีควรมีป้ายบอกตารางการให้บริการติดไว้.