สธ.เตือนกิน ปลาเกล็ดขาว สุกดิบ ระวังพยาธิใบไม้ชี้อีสาน-เหนือเสี่ยง

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคตั้งเป้าควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ และพยาธิปากขอในประเทศไทย

ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5ในปี 2559 แต่จากการสำรวจทางระบาดวิทยาของโรคหนอนพยาธิใน 75 จังหวัดของประเทศไทย เมื่อปี 2552 พบคนไทยร้อยละ 18 เป็นโรคหนอนพยาธิ พบมากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 26 ภาคเหนือ ร้อยละ 18 ชนิดของพยาธิที่พบส่วนใหญ่เป็นพยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 9 พยาธิปากขอ ร้อยละ 7 และพยาธิไส้เดือน ร้อยละ 1 ที่สำคัญ 2 ภาคนี้ยังพบอัตราติดโรคพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าที่อื่นๆ คือ ร้อยละ 17 และ 10 ตามลำดับ อีกทั้งผู้ที่เคยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับและกินยารักษาพยาธิแล้ว กลับมาเป็นซ้ำอีกสูงถึงร้อยละ 12

นพ.มานิตกล่าวว่า จากการวิเคราะห์พฤติกรรมพบว่า ประชาชนในพื้นที่ที่พบโรคพยาธิใบไม้ตับสูง

ยังคงกินอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบๆ สุกๆ เป็นประจำ ร้อยละ 7 และกินเป็นครั้งคราว ร้อยละ 84 ร้อยละ 69 และยังมีพฤติกรรมถ่ายอุจจาระนอกส้วม เช่น ในทุ่งนาเป็นบางครั้ง หากไม่ดำเนินการควบคุมโรคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้สถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับของประเทศไทยกลับมาเป็นปัญหารุนแรงขึ้นได้

"ในภาพรวมของประเทศพบว่ามี 26 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีอัตราความชุกของโรคหนอนพยาธิสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ นครพนม ศรีสะเกษ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ลำปาง ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ นครสวรรค์ นราธิวาส กระบี่ ชุมพร ตรัง ปัตตานี ยะลา และระนอง เมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราชุกโรคหนอนพยาธิในระดับหมู่บ้านแล้ว พบว่าบางหมู่บ้านในภาคอีสานมีอัตราชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับสูงถึงร้อยละ 85 เช่นเดียวกับหมู่บ้านในพื้นที่ภาคใต้ที่พบอัตราชุกของโรคพยาธิแส้ม้า และพยาธิปากขอสูงถึงร้อยละ 65 และร้อยละ 20 ตามลำดับ" นพ.มานิตกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือบางกลุ่ม

ยังมีวิถีพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิม ส่งผลให้เกิดเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ เช่น กินก้อยปลาดิบที่ทำจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวตระกูลปลาตะเพียน อาทิ ปลาแม่สะแด้ง ปลาแก้มช้ำ ปลาหน้าหมอง ปลาตะเพียนทราย ปลาตะเพียนทอง ปลากระแหทอง ปลาสร้อยหางเหลือง ปลาขาวนา ฯลฯ เมื่อเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับแม้เพียงครั้งเดียว ตัวพยาธิใบไม้ตับที่เข้าไปอยู่ในท่อน้ำดีก็สามารถทำให้เยื่อบุทางเดินท่อน้ำดีระคายเคือง และปล่อยสารทำลายเยื่อบุต่างๆ ทำลายสารพันธุกรรม ตัวพยาธิไปอุดตันท่อน้ำดี ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ขณะที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีทุกครั้งจะมีการสร้างสารก่อมะเร็ง และทำให้เป็นมะเร็งได้ เพื่อให้ปลอดภัยควรงดบริโภคก้อยปลาดิบ ปลาส้ม ลาบปลาดิบ และ ปลาร้าดิบ หรืออาหารที่ปรุงจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบทุกประเภท

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์