สมิทธเร่งรัฐ-รีบรับมือ จับตาดินไหวฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดสึนามิอ่าวไทย
"สมิทธ ธรรมสโรช" ประธานฯ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชี้อากาศทั่วประเทศไทยร้อนขึ้นมากผิดปกติ เหตุจากสภาวะโลก ร้อน คาดในปีหน้าจะยิ่งร้อนหนัก
หวั่นเกิดสภาวะคลื่นลมร้อนส่งผลให้คนตายเกลื่อนเหมือนในสหรัฐฯและอินเดีย วอนรัฐบาลเร่งแก้ไขผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ เตือนให้จับตาดูแผ่นดินไหวบนเกาะฟิลิปปินส์ อาจส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในอ่าวไทย ขณะที่พายุฤดูร้อนแผลงฤทธิ์พัดถล่มทั่วทุกภูมิภาค บ้านเรือนราษฎรพังเสียหายหลายร้อยหลังคาเรือน
ที่โรงแรมรอยัล ปรินซ์เซส โคราช อ.เมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
เดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องสภาวะโลกร้อน จัดโดยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงสภาพภูมิอากาศทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นตลอดเวลาว่า ปีนี้ร้อนขึ้นมาก ในบางจังหวัดมีอุณหภูมิสูงกว่าสถิติที่เคยตรวจพบ อาทิ จ.ลำปาง ขึ้นไปถึง 43 กว่าองศาเซลเซียส ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังมีอีกหลายจังหวัดที่อุณหภูมิสูงมาก คาดว่าถ้าสภาวะเช่นนี้ยังคงอยู่ต่อไป ในปีหน้า 2554 ก็จะยิ่งร้อนมากขึ้นอีก และส่งผลกระทบต่อภัยธรรมชาติอย่างอื่นตามมาด้วย
นายสมิทธกล่าวต่อว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของบรรยากาศที่หุ้มห่อโลก เรียกว่า "บิดเบต"
คือความร้อนมีการเคลื่อนตัวอยู่ในซีกโลกภาคเหนือ ทำให้เกิดมีอุณหภูมิสูงปกคลุมพื้นที่เกิน 42 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกัน 3 วัน เป็นสภาวะคลื่นลมร้อน ส่งผลให้คนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก สำหรับประเทศไทยน่าเป็นห่วงว่า ปีนี้สภาวะแห้งแล้งจะอยู่ต่อเนื่องนานมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือตกล่าช้าไป จะมีผลกระทบต่อสภาวะแห้งแล้งมากเลยทีเดียว
เตือนปี54ร้อนจัด สมิทธเร่งรัฐ-รีบรับมือสึนามิอ่าวไทย
ส่วนกรณีในช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือโลกร้อนไปแล้วหลายรายด้วยกันนั้น
ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า สิ่งนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปรากฏในประเทศอินเดีย ที่มีคนเสียชีวิตทุกปีจากสภาวะโลกร้อน เนื่องจากคลื่นความร้อนแผ่มาในประเทศอินเดีย และในสหรัฐอเมริกามีประจำทุกปี แต่เมืองไทยเริ่มปรากฏขึ้นในปีนี้ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ถ้าเรายังไม่สามารถลดสภาวะโลกร้อนให้น้อยลงได้ การสูญเสียชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนก็จะมีมากขึ้น เรื่องนี้จะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องมีการเร่งแก้ไขกันอย่างจริงจัง โดยให้เป็นนโยบายระดับรัฐบาลที่จะต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรม อาจจะจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น หรือจะเน้นการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยบดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้แผ่ลงสู่ผิวดิน มากขึ้น จะต้องรีบทำแล้ว
"ถ้าทุกคนช่วยกันปลูกป่าให้มาก รักษาธรรมชาติให้คงอยู่ มีปริมาณน้ำในผิวดินมากกว่าปกติ สภาวะแห้งแล้งก็จะน้อยลง บรรยากาศที่หุ้มห่อโลก หรือหุ้มห่อพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือจะลดลง อุณหภูมิก็จะไม่สูงขึ้น ปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติในหลายจังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ลำปาง เชียงราย อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในปีหน้าจะร้อนขึ้นกว่าปีนี้ การเสียชีวิตจะมากขึ้น เป็นการคาดการณ์ขององค์กรกลุ่มนิยมวิทยาโลกว่า สภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดพายุบ่อยครั้งขึ้น ความรุนแรงของพายุก็มีมากขึ้น และโดยเฉพาะในฤดูร้อน อุณหภูมิที่หุ้มห่อโลกจะร้อนขึ้นตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องคอยระวังว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร" นายสมิทธกล่าว
นายสมิทธยังกล่าวถึงกรณีภูเขาไฟระเบิด และรอบการเกิดสึนามิในพื้นที่ภาคใต้อีกว่า เรื่องภูเขาไฟระเบิดคงจะไม่มีในประเทศไทย
เมื่อก่อนเราเคยมีภูเขาไฟหลายลูกเหมือนกันในอดีตอยู่ในภาคเหนือ แต่ได้ดับลงไปนานแล้ว ส่วนการเกิดภัยธรรมชาติอย่างอื่น เช่น สึนามิ มีการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์บางสาขาในประเทศต่างๆว่า การเกิดสึนามิในทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทร อินเดีย อาจจะมีเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งการเกิดคลื่นสึนามิในทะเลจีนตอนใต้ แถวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ถ้ามันเกิดขึ้นก็มีผลกระทบต่ออ่าวไทยบ้าง อันนี้เราต้องคอยจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด และมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ส่วนจะเกิดสึนามิรอบต่อไปนั้น เดี๋ยวนี้การทำนายหรือการคาดการณ์การเกิดสึนามิ ซึ่งมันเกิดจากผลพวงของการเกิดแผ่นดินไหวก่อน ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่มนุษย์จะสามารถที่จะคาดการณ์ ได้ถูกต้อง
"อย่างกรณีประเทศจีนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มีคนเสียชีวิตมาก ในแต่ละครั้งก็ยังไม่มีการคาดการณ์ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด ฉะนั้น ต้องมีการเตรียมตัว มีการเฝ้าระวัง มีการป้องกัน มีการเตรียมชุดที่จะช่วยเหลือหลังจากการเกิดภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า ต้องให้การศึกษาแก่ ประชาชนว่า ถ้าเผื่อมันเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นมา ไม่ว่าในพื้นที่ใด ประชาชนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และต้องมีการเตรียมตัวที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไร อันนี้ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ เพราะว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังจากการเกิดภัยพิบัติ ถ้าทำไม่ดีแล้วความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจะมีมาก" ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าว
ขณะเดียวกัน เกิดเหตุพายุฤดูร้อนพัดถล่มในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายศุภกรณ์ จันทรางกูล นายก อบต.แม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
เปิดเผยว่าเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ได้เกิดพายุหมุนพัดกระหน่ำอย่างรุนแรงและมีลูกเห็บตกลงมาในพื้นที่หมู่ 3 บ้านน้ำมุด และหมู่ 4 บ้านพุชะนี และบ้านพุตาเฮียง ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายกว่า 30 หลังคาเรือน ต้นไม้ โค่นล้มลงมาขวางถนนสายแม่กระบุง-แม่ขมิ้น ระยะทางยาวกว่า 10 กม. รถทุกชนิดสัญจรผ่านไปมาไม่ได้ ต้องเกณฑ์หน่วยกู้ภัยและชาวบ้านมาช่วยกันตัดต้นไม้แล้วลากออกไปทิ้งข้างทาง สำหรับพายุฝนที่เป็นลักษณะเป็นพายุหมุนนั้น ไม่เคยเกิดมาก่อนในพื้นที่ ส่วนความเสียหายกำลังเร่งออกสำรวจ คงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากบ้านเรือนของประชาชนแต่ละหลังตั้งอยู่ไกลกัน ขณะนี้ได้รายงานให้ทางจังหวัดทราบเบื้องต้นเพื่อหาทางช่วยเหลือแล้ว
ส่วนที่ จ.อุดรธานี เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา มีพายุฤดูร้อนพัดถล่มหลายอำเภอในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ
ซึ่งเป็นวันแรกของการจัด "เทศกาลบ้านธาตุ บั้งไฟโลก บั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหล" พายุพัดเวทีพังถล่ม เครื่องเสียงเปียกฝนเสียหาย ด้านนายพิทยา กุดหอม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นมีรายงานบ้านเรือนเสียหายบางส่วนในพื้นที่ ต.จอมศรี ต.นาพู่ ต.สร้างแป้น ต.เชียงหวาง รวม 57 หลังคาเรือน ราษฎรเดือดร้อน 178 คน ส่วน อ.บ้านผือ เสียหาย 4 ตำบล คือ ต.เมืองพาน ต.โนนทอง ต.จำปาโมง และต.คำบง มีบ้านเรือนเสียหายบางส่วน 164 หลังคาเรือน ราษฎรเดือดร้อน 716 คน ในพื้นที่ ต.ข้าวสาร ต.บ้านผือ ได้รับความเสียหายมาก และอยู่ระหว่างสำรวจ
ที่ จ.เชียงราย เมื่อเวลา 10.30 น. นายสันติ เถรนิยม นายก อบต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.แม่ข้าวต้ม
เข้าสำรวจบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย หลังเกิดพายุฝนและลมกระโชกแรงในพื้นที่นานกว่า 1 ชั่วโมง ส่งผลให้บ้านเรือนของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ มุงด้วยหลังคาสังกะสีและกระเบื้อง ต้านทานแรงลมไม่ได้ ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่ามีบ้านเรือนอย่างน้อย 10 หมู่บ้าน ถูกกระแสลมพัดพาเอาหลังคาปลิวออกจากตัวบ้าน และถูกต้นไม้ขนาดใหญ่ โค่นทับได้รับความเสียหายกว่า 700 หลังคาเรือน