เดือนเมษายน-พฤษภาคม ถือเป็นช่วงฤดูที่มีอากาศร้อนจัดในรอบปี อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปต่างรู้สึกได้ว่า ปีนี้อากาศร้อนมากกว่าปีที่ผ่านมา
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งทำให้สภาพอากาศแปรปรวนจนขาดความสมดุลมากขึ้นทุกวัน นอกจากทำให้หงุดหงิดใจแล้ว อากาศร้อนอบอ้าวยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อหลายโรค เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น ประชาชนต้องเอาใจใส่สุขภาพร่างกาย และเฝ้าระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรคติดต่อ
มีรายงานจากหน่วยงานด้านป้องกันควบคุมโรค ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน
ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และ ไข้ไทฟอยด์ ที่ ผ่านมา โรคอันตรายเหล่านี้ได้รุมเร้าสุขภาพประชาชนอย่างหนัก ทำให้มีผู้ป่วยหลายราย มีอาการรุนแรงจนถึงขั้น มีผู้เสียชีวิต เพราะฉะนั้น หากประมาทไม่ใส่ใจ อาจทำให้โรคภัยหน้าร้อนดังกล่าวพร้อมที่จะสร้างความสูญเสียได้ตลอดเวลา
นายแพทย์สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า
โรคที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงอากาศร้อนจัดอย่างนี้ น่ากลัวที่สุดน่าจะเป็น “โรคอุจจาระร่วง” ซึ่งมีสถิติอัตราป่วยสูงสุดของเขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 118,292 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1,794.18 ต่อประชากรแสนคน ส่วนแนวโน้มในปี 2553 คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำมูกเลือดปน พร้อมกับอาเจียน ขณะเดียวกัน “โรคอาหารเป็นพิษ” ก็มีสถิติผู้ป่วยปี 2552 ทั้งประเทศ มีจำนวน 96,383 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 152.1 เสียชีวิต 2 ราย ในเขต 4 จังหวัดอีสานตอนล่างมีผู้ป่วย 11,592 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 175.50 ต่อประชากรแสนคน โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป พบในอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ จากเนื้อสัตว์ รวมถึงนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง จนทำให้ขาดน้ำ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 เปิดเผยอีกว่า ส่วน “โรคบิด” มีการรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศในปี 2552 จำนวน 14,330 ราย
คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 22.60 มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย ในเขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14 มีผู้ป่วย 1,068 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 16.17 ต่อประชากรแสนคน สามารถติดต่อได้ โดยการรับประทานอาหาร ผักดิบหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกหรือมูกเลือดปน ขณะที่ “อหิวาตกโรค” ยังมีสถิติน่าสนใจในปี 2552 ทั้งประเทศมีรายงานผู้ป่วย จำนวน 315 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.50 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 2 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.96 ในเขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 14 ไม่มีรายงานผู้ป่วย สามารถติดต่อได้โดยรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเข้าไป ส่วนอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และ “ไข้ไทฟอยด์” หรือไข้รากสาดน้อย สถิติทั่วประเทศมีผู้ป่วยจำนวน 3,673 ราย ในเขต 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง พบ 130 ราย สาเหตุเกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็น เชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร บางรายอาจมีท้องผูก หรือท้องเสียได้ ซึ่งโรคนี้สามารถแพร่ระบาดจากการที่ผู้ป่วยมีการปรุง หรือเสิร์ฟอาหารที่ไม่ได้มีการดูแลความสะอาดทำให้สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้
นายแพทย์สมชาย เปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า นอกจากนี้โรคที่พูดถึงกันน้อยแต่คนเป็นบ่อยมากช่วงหน้าร้อน คือ “โรคฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ “โรคลมแดด”
บางที่เรียกว่า “โรคอุณหพาต” อาการ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที การป้องกันทำได้โดยดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ในเด็กเล็ก และคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็ก หรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง การดูแลป้องกันโรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ควรดูแลสุขภาพให้ดี เอาใจใส่พิถีพิถันเรื่อง ปรุงและรับประทาน อาหารน้ำดื่มบ่อย ๆ รักษาความสะอาด รวมถึงการพักผ่อน ไม่ควร นิ่งนอนใจ และเมื่อเจ็บป่วยควรรีบเข้ารับการรักษาทันที
เชื่อได้ว่า หากทุกคนใส่ใจสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โรคต่าง ๆ จะรุมเร้าคงเป็นไปได้ยาก จะทำให้จิตใจสดใสอยู่เสมอ อยู่กับชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เหมือนอย่างคำที่ว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั่นเอง.