คนกรุงโล่งอก เจ้าพระยาไม่ล้น

"ชาวบ้านยังคงเดือดร้อน"


ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแสนสาหัส ไม่เว้นแม้กระทั่งคนกรุงเทพฯที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่นอกแนวกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่รับน้ำในย่านชานเมืองอย่างเขตลาดกระบัง คลองสามวา หนองจอก สายไหม และมีนบุรี ซึ่งถูกน้ำท่วมขังมานานแรมเดือนนั้น

ต่อมาเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ต.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯพร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจสภาพน้ำท่วมบริเวณชุมชนริมทางรถไฟฉิมพลี ถนนสวนผัก หมู่ที่ 6 และ 7 เขตตลิ่งชัน ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนอยู่นอกแนวกั้นน้ำของ กทม. ทำให้ถูกน้ำท่วมขังมานานแรมเดือนแล้ว โดยเฉพาะชุมชนหมู่ที่ 6 บางจุดมีน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร ทั้งนี้ได้มอบถุงยังชีพและสั่งให้เจ้าหน้าที่เขตตลิ่งชันดูแลและซ่อมแซมสะพานไม้ที่ใช้เป็นทางเดินของคนในชุมชนด้วย จากนั้น ได้เดินทางไปยังวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร เพื่อลงเรือหางยาวตรวจแนวกั้นน้ำในคลองมหาสวัสดิ์

"ได้รับความเดือดร้อนพอสมควร"


นายอภิรักษ์เปิดเผยว่า ริมคลองมหาสวัสดิ์มีการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำเป็นระยะทางยาว 7 กม. ยังเหลืออีก 8.3 กม.ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ต้องใช้กระสอบทรายกั้นน้ำชั่วคราว ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบมากพอสมควร สำหรับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดช่วงวันที่ 23-25 ต.ค.นั้น จากการตรวจสอบปริมาณน้ำเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ต.ค. พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 2.02 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับน้ำที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.17 เมตร เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้ ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯชั้นในอย่างที่หวั่นเกรงกันจึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจะต้องเฝ้าระวังเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงต่อไปอีก 2 วันคือวันที่ 24-25 ต.ค. และอีกช่วงคือวันที่ 7-10 พ.ย.นี้

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เริ่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่โดยรวมยังคงมีน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 1-2 เมตร นายไพรัช บารมี นายช่างแขวงการทางอยุธยา กล่าวว่าได้สั่งปิดถนนสายบางปะอิน-บางปะหัน ช่วงหลัก กม.ที่ 42-45 ซึ่งเป็นถนนทางลัดเชื่อมต่อกับทางด่วนปทุมธานีไปออกถนนสายเอเชียที่ อ.บางปะหัน ชั่วคราว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นผิวถนนสูงกว่า 1 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้ โดยให้เลี่ยงไปใช้ถนนสายเอเชียแทน ขณะเดียวกันที่วัดกษัตราธิราชวรวิหาร พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะภาค 2 และเป็นอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำสิ่งของเครื่องอัฐบริขารจำนวน 500 ชุด มามอบให้กับพระญาณไตรโลก เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด และเป็นเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชวรวิหาร เพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ตามวัดต่างๆในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังรวม 8 อำเภอต่อไป

"อ่างทองหนักสุด"


ด้าน จ.อ่างทอง ซึ่งถูกน้ำท่วมเกือบร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยมานานกว่า 1 เดือน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเขต อ.เมือง อ่างทอง น้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆเริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวล ปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำน้อยตายลอยเป็นแพ ประชาชนไม่มีน้ำประปาใช้ในหลายพื้นที่ และเมื่อคืนวันที่ 23 ต.ค. กระแสน้ำได้กัดเซาะพนังกั้นน้ำใน ต.ตลาดกรวด อ.เมืองอ่างทองจนพัง น้ำไหลบ่าลอดใต้ถนนสายเอเชียเข้าท่วมนาข้าวในทุ่งราบฟ้า บ้านกระทุ่งราย บ้านท้ายตลาด และบ้านชัยฤทธิ์ อ.ไชโย ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 10,000 ไร่ อย่างรวดเร็วจนได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นเมื่อช่วงสายวันเดียวกัน พ.ต.ท.ณัษฐ์ จิตรปฏิมา รอง ผกก.ป. สภ.อ.เมืองอ่างทอง รับแจ้งว่า พบจระเข้ขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 2.5 เมตร ลอยตัวขึ้นมาไล่กัดคนที่พายเรือในคลองหมู่ 4 บ้านบ่อน้ำ ต.ป่างิ้ว จึงสั่งการให้ พ.ต.ท. วินัย ตรีราภี สวป. นำชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมเรือท้องแบนเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่พบวี่แววจระเข้ตัวดังกล่าว

ต่อมาเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่หมู่ 8 ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง โดย นพ.ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุข จ.อ่างทอง ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ จากนั้น คณะของ รมว.สาธารณสุขได้เดินทางไปที่ รพ. โพธิ์ทอง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง ก่อนตรวจดูแนวป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลซึ่งถูกน้ำล้อมไว้หมด โดยรับปากว่าจะกลับไปเสนอ ครม. ให้ปัดฝุ่นโครงการประปาสนาม เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วต่อไป

"พระราชทานเงินส่วนพระองค์ 2 ล้านบาท"


ด้าน น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปลื่อง รอง ผวจ.อ่างทองเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณหลังวิหารหลวงพ่อสด วัดจันทรังษี พื้นที่ ม.8 ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างว่าจะปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จากนั้น ก็จะเริ่มการก่อสร้างอาคารศาลาที่พักทันที เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง ขนาดความกว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร รูปแบบศาลาที่จะสร้างจะเหมือนกับแบบศาลาช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บ้านเนินธรรมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นที่อยู่สำหรับผู้ประสบอุทกภัยที่บ้านเรือนเสียหายเป็นการชั่วคราว และยังเป็นสถานที่ในการรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือยามเมื่อเกิดอุทกภัยและภัยธรรมชาติต่างๆ ค่าก่อสร้างประมาณ 50 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จภายในเวลา 4 เดือน

ต่อมาเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขพร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมคณะแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วยที่ รพ.สิงห์บุรี มีนายประภาศ บุญยินดี ผวจ.สิงห์บุรี และ นพ.ประวิทย์ สมบุญ ผอ.โรงพยาบาลสิงห์บุรี ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการรับฟังบรรยายสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง รมว.สาธารณสุขกล่าวว่าในเร็วๆนี้จะมีการวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวใน 7 จังหวัดภาคกลางคือสิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะส่งตัวแทนมาร่วมประชุมเพื่อวางแผนรับมือโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม จากนั้น รมว.สาธารณสุขได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่กำจัดขยะของเทศบาลเมืองสิงห์บุรี หมู่ 5 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมืองสิงห์บุรี ก่อนจะเดินทางกลับ สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านที่เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังในแม่น้ำน้อย ต.ถอนสมอ อ.ท่าช้าง เนื่องจากน้ำเน่าเสียทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 1 รายคือนายสุชาติ มีทรัพย์ อายุ 43 ปีอยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 6 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี พายเรือออกจากบ้านแต่เกิดเป็นลมพลัดตกจากเรือจมน้ำเสียชีวิต

"เริ่มลดระดับลงบ้างแล้ว"


ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ และอ.เมืองปราจีนบุรี เริ่มลดระดับลงไปมากแล้ว ขณะเดียวกันตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย ป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ และ ใหม่-สุคนธวา เกิดนิมิตร มาร่วมแจกของช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.บางยาง ต.บางกระเบา ต.บางพลวง ต.บ้านสร้าง ต.วัดโบสถ์ และ ต.รอบเมือง รวมทั้งสิ้น 3,000 ชุด นอกจากนี้ 2 พระนางวิก 7 สี ยังได้ร่วมตักบาตรที่วัดบางกระเบาด้วย ขณะเดียวกันก็มีรายงานชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาบึกได้อีกแล้ว โดยเมื่อเวลา 21.00 น. คืนวันที่ 22 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 135 หมู่ 4 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หลังรับแจ้งว่ามีคนจับปลาบึกขนาดใหญ่ได้ พบชาวบ้านนับสิบคนกำลังมุงดูปลาบึกเพศเมีย ลำตัวยาว ประมาณ 2 เมตร หนักกว่า 150 กก. โดยนายชูศักดิ์ พรมมา อายุ 28 ปี ซึ่งเป็นคนจับได้เผยว่า โชคดีจับปลาบึกได้เป็นตัวที่สองแล้ว ตัวแรกจับได้เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เป็นตัวผู้ หนัก 135 กก. จับได้จากการวางตาข่ายดักในคลองชะลองแวงใกล้บ้าน ถัดมาอีกวันก็จับได้ตัวเมียเพิ่มอีกตัว มีนายนิมิตร หงษ์วิไล ส.จ.เขต อ.กบินทร์บุรีมาเหมาซื้อในราคา 10,000 บาท

ช่วงสายวันเดียวกัน นายบัญชา เสมากูล รอง ผอ. สพท.อุทัยธานี ได้ออกสำรวจโรงเรียนที่น้ำท่วมในเขต อ.เมืองอุทัยธานี จำนวน 15 แห่ง เพื่อตรวจความพร้อมที่จะเปิดเรียนในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ได้หรือไม่ ผลการสำรวจน้ำที่ท่วมสูงสุดในวันที่ 19 ต.ค .ขณะนี้ลดลงเพียง 15 ซม. อาจจะมีการเลื่อนการเปิดเรียนออกไป โดยจะเปิดสอนชดเชยในวันเสาร์และอาทิตย์จนกว่าครบเวลาเรียนจริง ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายสายชล แตงไทย อายุ 42 ปี สารวัตรกำนันตำบลสะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี ว่า มีชาวบ้านพบป้ายทะเบียนรถจมอยู่ในคูน้ำข้างเต็นท์ที่พักอาศัยชั่วคราวของนายสายชล มีทั้งแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวม 72 อัน ทั้งจากจังหวัดอุทัยธานี กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชลบุรี ชัยนาท นนทบุรี พิจิตร พิษณุโลก ร้อยเอ็ด และสุพรรณบุรี ในจำนวนนี้มีป้ายแดง 5 อัน คาดว่าช่วงที่น้ำหลากท่วมถนนหน้าบ้าน คงจะพัดป้ายทะเบียนหลุดออกจากตัวรถ หากใครสงสัยว่าจะเป็นป้ายทะเบียนของตัวเองให้แสดงหลักฐานการจดทะเบียนมาติดต่อขอรับคืนได้ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่หมายเลข 0-6217-3159 และ 0-1785-2024 ยินดีจะจัดส่งคืนทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน

"เครียดจัดฆ่าตัวตายประชด"


ปัญหาน้ำท่วมขังนานแรมเดือนส่งผลให้ชาวบ้านเครียดจัดถึงขั้นฆ่าตัวตายประชดครั้งนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 23 ต.ค. ร.ต.ท.สุวัฒน์ โพธิ์รี ร้อยเวร สภ.ต.ปากคลองรังสิต อ.เมืองปทุมธานี รับแจ้งมีคนเสียชีวิตภายในบ้านเลขที่ 8/2 หมู่ 2 ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี รุดไปตรวจสอบพบว่าคนในบ้านช่วยกันตัดเชือกไนลอนนำศพลงมาแล้วทราบชื่อนายไร่ ประชาสุข อายุ 63 ปี เจ้าของบ้าน สอบสวนทราบว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ แต่ระยะหลังไม่ได้ไปเพราะบ้านถูกน้ำท่วมขังสูงเกือบเมตร ทำให้ผู้ตายเครียดมาก ก่อนจะสบโอกาสไม่มีใครอยู่บ้านแอบแขวนคอตายในห้องนอนดังกล่าว

ที่ จ.พิจิตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนสายคลองชลประทานตั้งแต่ ม.1-.5 ต.บางลาย กิ่ง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ได้มีชาวนาหลายสิบรายพากันลุยน้ำเกี่ยวข้าวนาปรังที่ตั้งท้องเต็มที่แต่จมอยู่ในน้ำตามบริเวณแปลงนา ต่างนำมาตากแดดวางเต็มถนนเพื่อรอให้ข้าวแห้งและเลือกเอารวงที่ข้าวไม่เสียและมีเมล็ดดีก่อนนำมานวดเก็บไว้เป็นข้าวเปลือก โดยบางรายนำไปสีกินเอง และบางรายที่ปลูกจำนวนมากก็เอาไปขาย ส่วนใหญ่ข้าวที่เกี่ยวมาจากน้ำจะเสียครึ่งต่อครึ่ง นายเกรียงศักดิ์ มาดมนตรี อายุ 35 ปี กล่าวว่า ตนกู้เงิน ธ.ก.ส.มาลงทุนหลายหมื่นบาททำนา 28 ไร่ โดยปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณ 35 โดยข้าวของตนแก่เต็มที่พร้อมจะเกี่ยว แต่น้ำท่วมลึกประมาณ 1.5 เมตร ต้องจ้างคนเกี่ยววันละ 120 บาท จำนวน 4 คน ปกตินาข้าวของตนปลูกข้าว 1 ไร่ จะได้ข้าวเปลือกประมาณ 90 ถัง แต่ปีนี้เสียครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็ยังดีกว่าเน่าตายทั้งหมดและปีนี้คงไม่มีเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส.อย่างแน่นอน

"น้ำท่วมบ้านทั้งหลัง"


ส่วนนางยุพิน ชูตะมัน อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114/1 ม.3 ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมทั้งหลัง ต้องหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในศาลาพักร้อนริมถนนสายไผ่ท่าโพ-วังสำโรง พร้อมลูกๆ โดยนางยุพินซึ่งท้องแก่ได้ไปคลอดลูกที่ รพ.โพธิ์ประทับช้างเป็นทารกเพศหญิง เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา พอออกจากโรงพยาบาลก็ต้องมาพักอยู่ในศาลาพักร้อนเช่นเดิม เพราะยังไม่สามารถกลับไปอยู่บ้านได้เนื่องจากน้ำยังท่วมหนักอยู่ แม้ระดับน้ำจากแม่น้ำยมจะลดลงบ้างแล้วก็ตาม

ทางด้านศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปรายงานเหตุการณ์อุทกภัยทั่วประเทศตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงเดือน ต.ค.ว่า มีพื้นที่ประสบภัยรวม 47 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวน 883,048 ครัวเรือน หรือ 3,169,571 คน ยอดผู้เสียชีวิตถึงวันที่ 22 ต.ค. รวม 126 คน จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ 18 คน รองลงมาคือ จ.พิษณุโลก 12 คน และมีผู้สูญหาย 1 คนที่ จ.เชียงใหม่ ความเสียหายทางด้านทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 334 ล้านบาท ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ที่ปัญหาอุทกภัยเหลืออยู่ 16 จังหวัดได้แก่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี และกรุงเทพมหานคร


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์