กรุงเทพฯ 25 เม.ย. - สำนักงานสถิติแห่งชาติ เตรียมเสนอผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนประจำปี 2552 ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน รวมถึงลักษณะที่อยู่อาศัย จากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศ 52,000 ครัวเรือนให้ ครม.รับทราบ โดยพบในปี 52 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 16,205 บาท และมีหนี้สินคิดเป็น 60.9% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 134,699 บาท
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 43-52 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ
และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย โดยรายได้เพิ่มจาก 12,150 บาท เป็น 20,903 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 9,848 บาท เป็น 16,205 บาท ขณะที่ครัวเรือนที่มีหนี้สินพบว่า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 43 -47 จาก 56.3% เป็น 66.4% แต่เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 49-52 จาก 64.4 % เป็น 60.9% อย่างไรก็ตาม พบว่าจำนวนเงินที่เป็นหนี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 43-52 คือจาก 68,405 เป็น 134,699 บาท ส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนในปี 47 จะสูงสุดเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ แต่พบว่ามีแนวโน้มลดลงคือจาก 7 เท่าในปี 47 เป็น 6.3 เท่าในปี 50 และเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 52 เป็น 6.4 เท่า
นอกจากนี้ หนี้สินที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้สินในระบบถึง 82.4% ขณะที่ครัวเรือนที่เป็นหนี้สินนอกระบบอย่างเดียวมี 7.9% และครัวเรือนที่เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมีสัดส่วน 9.7% และยังพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 18 เท่า โดยเป็นหนี้สินในระบบ 127,715 บาท ส่วนนอกระบบมีจำนวน 6,984 บาท
ครัวเรือนที่มีหนี้สินในระบบส่วนใหญ่นำไปซื้อบ้านและที่ดินสูงที่สุดถึง 35.3%
ซึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดภาษีในการซื้อหรือโอนบ้าน รองลงมา นำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค 30.6% อีก 15.6% ก่อหนี้เพื่อนำไปใช้ทำธุรกิจอีก 14.3% นำไปใช้ทำการเกษตร หนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียง 2.6% ส่วนครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่ 33.8% ก่อหนี้เพื่อใช้อุปโภคบริโภค รองลงมา 27.7% นำไปใช้ทำธุรกิจอีก 17%ใช้ซื้อบ้านและที่ดิน และ 11.7% ก่อหนี้เพื่อใช้ทำการเกษตร ขณะที่หนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียง 2.7 %เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนใดที่มีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน
ได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือน 40.3% จากการทำธุรกิจ 20.3% และจากการทำการเกษตร 11.4% และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐ 10.2% รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ย 1.6 %นอกจากนั้นยังมีรายได้ในรูปสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่าง ๆ 14.5%
ตามข้อมูลำพบว่า เมื่อพิจารณาตามอาชีพแล้วพบว่าครัวเรือนที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ นักวิชาการ นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 48,745 บาท
รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร 26,697 บาท ขณะที่ เสมียน พนักงาน ผู้ให้บริการ มีรายได้ 20,169 บาท และผู้ถือครองทำการเกษตรที่เช่าที่ดิน 17,765 บาท ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดคือ ครัวเรือนผู้ทำประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์ และหาของป่ามีรายได้ 8,818 บาท
ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 16,205 บาท ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่าย ด้านค่าอาหารและเครื่องดื่มถึง 34.2%
รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.1% ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.7% ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า 5.4% ในการสื่อสารร้อยละ 3.1% ใช้ในการบันเทิง การจัดงานพิธี 2.3% และในการศึกษา 2.1% นอกจากนี้ยังมีค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล 1.9% กิจกรรมทางศาสนามีเพียง 1.1% และยังพบว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคเช่น ค่าภาษีของขวัญ เบี้ยประกันภัยซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ยสูงถึง 12.1% ทีเดียวซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย
ครัวเรือนไทยร้อยละ 60 เป็นหนี้เฉลี่ย 1.34 แสนบาท
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ครัวเรือนไทยร้อยละ 60 เป็นหนี้เฉลี่ย 1.34 แสนบาท
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!