เมื่อวันที่ 19 เม.ย. น.พ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้อากาศค่อนข้างร้อนจัด
ซึ่งจะทำให้โรคต่างๆเกิดขึ้นได้ง่าย จึงเตือนประชาชนว่ามี 2 โรคที่อาจจะเกิดได้ง่ายในช่วงนี้และเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต ได้แก่ โรคไข้หูดับ หรือ สเตปโตค็อกคัล ซูอีส (Streptococcus suis) และโรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งโรคไข้หูดับเกิดจากการรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เช่น ลาบ หลู้ ที่นำเลือดหมูสดๆ มาราดบนหมูสุกก่อนรับประทาน แม้ว่าเนื้อจะสุกแต่เลือดดิบก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน รวมทั้งการกินหมูกะทะ หมูจุ่ม ต้องทำให้สุกจริงๆ ก่อนบริโภค
น.พ.มานิต กล่าวว่า เชื้อสเตปโตค็อกคัล ซูอีส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง
การกินหมูดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน เลือด และการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค หลังจากได้รับเชื้อ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน บางรายไม่รู้สึกตัว ชักกระตุก เป็นอัมพาต บางรายอาจมีเยื่อบุหัวใจ ปอดอักเสบ สายตาพร่ามัว มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 หรืออาจหูหนวกถาวร
วิธีป้องกันเชื้อโรคที่ดีที่สุด คือ การทำให้เนื้อหมูสุกด้วยความร้อนระดับ 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที
สำหรับผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสเนื้อหมู ควรสวมถุงมือป้องกันการติดเชื้อทุกครั้ง หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ และต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและหูหนวกได้
น.พ.มานิต กล่าวต่อว่า ส่วนโรคโบทูลิซึม เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรคมักพบในอาหารบรรจุปี๊บหรือกระป๋อง
เช่น หน่อไม้ปี๊บ ผักหรือผลไม้กระป๋องที่มีการปนเปื้อนของเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้สามารถเติบโตได้ในที่ๆ ไม่มีออกซิเจน เช่น ในอาหารกระป๋องหรืออาหารปิ๊บที่ไม่ได้มาตรฐาน อาการป่วยคล้ายกับอาหารเป็นพิษ แต่ต่อไปจะลุกลามจนมีอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจากบริเวณใบหน้า เช่น หนังตาตก กลืนลําบากพูดไม่ชัด หายใจลําบาก และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด