อุณหภูมิสูงยิ่งใช้ไฟฟ้าเพิ่ม เม.ย.ปีนี้ ทุบสถิติร้อนสุดในรอบ 3 ปี

ช่วงเดือนเมษายนของทุกๆปี อากาศจะร้อนมากที่สุด คนส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยอุปกรณ์ทำความเย็นเพื่อช่วยคลายร้อน เช่น แอร์ พัดลม ส่งผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และนั่นหมายความว่า เราจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย...


สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าปี 2553 จะสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ มากน้อยแค่ไหน และเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร  เพื่อไม่ให้เงินในกระเป๋าต้องจ่ายไปโดยสูญเปล่า คุณรณชิต รัตนารามิก รองผู้ว่าการบริหารจัดการระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีข้อมูลเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังกับ "รายงานวันจันทร์"

ถาม : ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2553 เปรียบเทียบกับปีก่อนๆ เป็นอย่างไรบ้าง


รณชิต :
จากข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าของกฟน. ในปี 2552 คิดเป็น 41.733 ล้านหน่วย ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ถึง 503 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 12 สำหรับปี 2553 ช่วง 3 เดือนแรก ม.ค.–มี.ค. ความต้องการใช้ไฟฟ้า คิดเป็น 10,890 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 1,200 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 13.3
เฉพาะเดือนเม.ย. ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าเดือนอื่นๆ อยู่ร้อยละ 5 และถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะสูงขึ้นไปอีก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนจะสูงกว่าค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปี ประมาณร้อยละ 1.3-8.1 ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2553 มีอัตราเป็นบวกค่อนข้างสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากช่วงปลายปี 2552 รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของกฟน. อยู่ที่ 7,555.35 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.53

และถ้าสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรง คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของกฟน. ในปี 53 จะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย. อยู่ที่ประมาณ 7,800-7,900 เมกะวัตต์ เทียบกับเดือนเม.ย.ปี 52 อยู่ที่ประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 4-5 ซึ่งจะเป็นค่าสูงสุด เทียบกับปี 50 อยู่ที่ 7,720 เมกะวัตต์


เมื่อแยกประเภทความต้องการใช้ไฟฟ้า เดือนม.ค.-ก.พ.ปี 53 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 52 พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ภาคธุรกิจ เพิ่มร้อยละ 11.2 ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มร้อยละ 19 หน่วยงานราชการเพิ่ม 23.8 ทั้งนี้ บ้านพักอาศัย ภาคธุรกิจ และหน่วยราชการ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปี 50 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วย


ถาม : กฟน.เตรียมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นไว้อย่างไร


รณชิต :
เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กฟน.ได้พัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้า ทั้งระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย พัฒนาระบบสายส่ง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในมาตรการการให้บริการ ซึ่งจากการพัฒนาระบบดังกล่าว ทำให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างพอเพียง สามารถจ่ายให้ลูกค้าได้ทุกราย

นอกจากนี้ ยังมีอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาด 20 KV บางกะปิ–ชิดลม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า รวมถึงเปลี่ยนสายป้อนอากาศเป็นสายใต้ดิน ในถนนพหลโยธิน พญาไท สุขุมวิท จิตรลดา สีลม และปทุมวัน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า และปรับภูมิทัศน์ในเขตกรุงเทพฯ ให้สวยงามอีกด้วย


ถาม : มีวิธีที่จะแนะนำการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประหยัดพลังงานอย่างไรบ้าง


รณชิต :
ควรตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 25 องศาเซลเซียส หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรอง หรือล้างเครื่องอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ควรเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 มีขนาดที่เหมาะกับการใช้งาน รวมถึงการเปิด-ปิดเป็นเวลา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์