น้ำท่วมหมูจน200ตัวร้อยขาอาละวาด

"ร้อยขาอาละวาด"


คนลพบุรีอ้วกแตก กินน้ำเจอตัวร้อยขา ท้องร่วงเป็นแถว พนังกันน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาพรหมบุรีพัง หมูจมหาย 200 ตัว แม่เฒ่า 64 เครียดค่าชดเชยรัฐ นอนร้องไห้

ชาวลับแล 13 ครอบครัวโอด 5 เดือนนอนอาคารเรียน กรมทรัพย์เตือนใต้ดินถล่มน้ำป่าหลาก กรุงเทพฯ เตือน 3 เขตฝั่งตะวันออกรับมือ 2 น้ำหนุน 23-25 ต.ค.

นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันที่ 19 ตุลาคม ว่า เมื่อเวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 5,850 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวันก่อน 110 ลบ.ม.ต่อวินาที ถือว่าอยู่ในระดับที่ทรงตัว

"ปริมาณน้ำ"


ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 23 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 4,188 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจากแม่น้ำป่าสักลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลง 41 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 615 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มาถึงกรุงเทพฯ ลดลง 59 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 3,626 ลบ.ม.ต่อวินาที

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำเหนือช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ คือ การผันน้ำเข้าทุ่งหลายจังหวัด ดำเนินการได้แล้ว 142.2 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังคงเป็นไปตามแผนงาน

วันเดียวกัน กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ประกาศฉบับที่ 59/2549 เตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภูเขาสูงและหมู่บ้านในหุบเขาบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ยะลา กระบี่ ตรัง สตูล และจังหวัดใกล้เคียง ตรวจเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1-2 วันนี้ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ซึ่งอาจเกิดดินไหลหรือหินร่วงปิดทับเส้นทาง

"ทุกข์หนัก น้ำใช้อาบกินไม่ได้"


ด้านสถานการณ์น้ำท่วม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ชาวบ้านหมู่ 1, 2 และ 3 ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี รวมตัวเข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวประจำ จ.ลพบุรี ว่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักกรณีน้ำประปาหมู่บ้านที่ไม่ได้ผ่านระบบกรองน้ำส่งกลิ่นเหม็น และมีสีขุ่นเข้มเหมือนสีน้ำโอวัลติน เมื่อนำมาอุปโภคบริโภคส่งผลให้ชาวบ้านป่วยท้องร่วง และมีผดผื่นคันตามตัว

นอกจากนี้ เมื่อเปิดน้ำจากก๊อกจะมีทั้งเศษใบหญ้าและตัวร้อยขา ยาว 1.5 ซม.ไหลออกมา ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แม้แต่จะใช้ล้างจาน เพราะจะมีคราบสีน้ำตาลติดถ้วย จาน ร้านอาหารต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีชาวบ้านไปรับประทาน จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลแก้ไขให้ด้วย

นายสมศักดิ์ อบชื่น อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 144 หมู่ 3 ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่ทนทุกข์ทรมานมาหลายสัปดาห์แล้ว จะต้องซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่มกินและใช้อาบ เนื่องจากน้ำก๊อกที่ อบต.สูบขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำซึ่งอยู่ชายเขา เพื่อนำมาให้ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคนั้น ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากมีกลิ่นเหม็นเหมือนไส้เดือนเน่า และมีสีขุ่นข้น ชาวบ้านหลายที่มีเงินน้อยก็จำเป็นต้องนำเอาสารส้มมาแกว่งพื่อให้น้ำตกตะกอนให้ใส เพื่อจะให้ดื่มได้

"ไม่รู้จะพึ่งใคร"


"เมื่อดื่มน้ำเข้าไปก็มีอาการอาเจียนและท้องเสีย ต้องเข้าโรงพยาบาลนับสิบราย รวมทั้งผมและลูกหลานในครอบครัวอีกด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำแห่งนี้มาดื่มอีกแล้ว

ขณะเดียวกัน ร้านอาหารในหมู่บ้านไม่สามารถขายได้ เพราะไม่มีใครกล้ารับประทานอาหาร เนื่องจากร้านอาหารใช้น้ำก๊อกหมู่บ้านล้างจาน ทำให้มีคราบสกปรกเป็นสีน้ำตาลติดจาน ชาม ทั้งนี้ สาเหตุก็มาจากนำน้ำจากก๊อกของหมู่บ้านมาใช้ล้างจาน

ตัวประหลาดเป็นไส้เดือนแดง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดพายุฝนกระหน่ำ ซึ่งฝนได้ชะเอาสิ่งสกปรกโสโครกลงในอ่างเก็บน้ำ เช่น เศษหญ้า เศษไม้ ทำให้น้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นเหมือนไส้เดือนเน่า จนไม่สามารถนำมาใช้ได้ ชาวบ้านต้องอาศัยรองน้ำฝนที่ตกลงมาใช้ประทังชีวิต หรือซื้อน้ำบรรจุขวดมาหุงหาอาหารและใช้อาบ

"ประปาหมู่บ้านที่มีอยู่ อบต.ก็ไม่ให้ใช้ อ้างว่าไม่มีเงินเสียค่าไฟฟ้าในการปั่นเครื่องกระแสไฟทำน้ำประปา สิบกว่าวันถึงจะปล่อยน้ำประปามาให้ชาวบ้านใช้สักครั้งหนึ่ง จนชาวบ้านไม่รู้จะไปพึ่งใครได้ ทางราชการก็ไม่เข้าไปดูแล แม้แต่อำเภอและสาธารณสุข (อสม.) จึงมาร้องเรียนสื่อมวลชนให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ใหญ่หน่วยเหนือเข้าไปช่วยชาวบ้านด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว

นางสุภาพร เพิ่มพูน อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 215 หมู่ 3 ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กล่าวว่า หลังจากใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวทำให้ครอบครัวของตนป่วย ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยส่วนใหญ่จะมีอาการท้องร่วงไม่หยุด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอกจากนี้ มีอาการคันตามตัว ผดผื่นขึ้นทั้งตัว ไม่เพียงแต่ตนเท่านั้น เพื่อนบ้านจากทั้ง 3 หมู่บ้านก็มีอาการเดียวกันหมด

"ขอตรวจสอบก่อน คาดเป็นไส้เดือนแดง"


ด้าน พ.ญ.ประนอม คำเที่ยง แพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบก่อน อาจเป็นไปได้ว่าท่อน้ำประปาในหมู่บ้านแตก จึงทำให้มีสัตว์ที่คล้ายไส้เดือนเข้ามาในท่อ ทางสาธารณสุขขอเวลาตรวจสอบสัก 2-3 วันก่อน แต่ช่วงนี้ขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้น้ำ เพราะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นตัวอะไร และเกิดอันตรายหรือไม่ แต่ในความเข้าใจของแพทย์คาดว่าน่าจะเป็นไส้เดือนแดง

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 08.00 น. ที่บริเวณหมู่ 4 ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี พนังกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชาวบ้านช่วยกันทำไว้ป้องกันน้ำท่วมพังลง ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน หมู่ 4, 3, 2 และ 1 เสียหายอย่างหนัก รวมทั้งฟาร์มเลี้ยงหมูของนางปราณี สิริชะโย อยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ 1 ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูไว้ในพื้นที่หมู่ 1 ต.พระงาม ได้รับความเสียหายหนัก หมูจมน้ำและถูกน้ำพัดพาไปจำนวนมาก

นางปราณี กล่าวว่า ที่ฟาร์มเลี้ยงหมูไว้ประมาณ 800 ตัว มีทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และลูกหมูขนาดต่างๆ กัน เป็นฟาร์มเลี้ยงแบบครบวงจร บริเวณฟาร์มตั้งอยู่บนพื้นที่นา ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างแรงงานมาทำการขนย้ายหมูไปไว้ที่บริเวณวัดชีปะขาวก่อนหน้านี้ 2 วัน แต่ยังขนย้ายไม่หมดน้ำก็มาท่วมเสียก่อน ซึ่งน้ำที่ท่วมเร็วและแรงมาก ทำให้หมูถูกน้ำพัดจมน้ำตายรวม 200 ตัว จากการประเมินมูลค่าความเสียหายครั้งนี้น่าจะประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนหมูที่ตายเขียงหมูใน จ.สิงห์บุรี ก็มารับซื้อในราคาถูก

"ระดับน้ำสูงกว่า 60 ซม."


ที่ จ.สุพรรณบุรี นายพรชัย จิ๋วเจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีประจันต์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูงกว่าระดับถนนในเขตเทศบาลประมาณ 70 ซม. แต่ยังไม่เข้าท่วม เนื่องจากเทศบาลนำกระสอบทรายมาทำพนังกั้นน้ำสูงประมาณ 15 ชั้น กันตามแนวตลิ่ง นอกจากนี้ ยังจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันให้น้ำทะลัก และต้องขอขอบคุณชาวตลาดและคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่บริจาคเงินช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเทศบาล

ขณะที่ น.พ.ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีนที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรอบโรงพยาบาล ระดับความสูงกว่า 60 ซม. รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยโรงพยาบาลทำคันกั้นน้ำรอบบริเวณโรงพยาบาล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมบริเวณโรงพยาบาล เนื่องจากจะกระทบต่อระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ และแนะนำให้ผู้ป่วยใน จ.สุพรรณบุรี ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น อ.ศรีประจันต์ อ.อู่ทอง หรือ อ.บางปลาม้า เป็นต้น

โวยรัฐนอนโรงเรียน5เดือนแล้ว


ส่วนภาคเหนือ เริ่มจาก จ.อุตรดิตถ์ บ้านน็อคดาวน์ช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมโคลนถล่มในเขต อ.ลับแล อ.ท่าปลา และ อ.เมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเวลาผ่านมานานกว่า 5 เดือนแล้ว ในส่วนของชาว อ.ลับแล ยังไม่สามารถเข้าอยู่ได้มีจำนวน 240 หลังคา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ร.ต.ท.อุปฤทธิ์ ศรีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดความล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากการก่อสร้างช้ากว่ากำหนด 1 เดือน และอุปกรณ์ประกอบพื้นบ้านมาถึงช้า จึงทำให้การก่อสร้างชะงักไประยะหนึ่ง ขณะนี้มาครบแล้ว การก่อสร้างต้องดำเนินการต่อไป คาดว่าจะย้ายผู้ประสบภัยเข้าอยู่ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในส่วนของบ้านน็อคดาวน์เป็นการบริจาค ไม่ได้ใช้งบของราชการ ดังนั้น การเร่งรัดและตรวจสอบไม่ใช่อำนาจของจังหวัด หากผู้บริจาคยกเลิกการช่วยเหลือก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงจังหวัดก็จะพยายามหางบประมาณมาสานต่อโครงการให้ชาวบ้านได้มีบ้านพักอาศัยที่มั่นคงแข็งแรง และอยู่ในที่ปลอดภัย ประกอบกับการติดตั้งไฟฟ้าและประปา งบประมาณจังหวัดก็ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด

"ชาวบ้านรอไม่ไหวต้องเสี่ยงอยู่ที่เดิม"


นางสบาย เตชัย ผู้ใหญ่บ้านมหาราช หมู่ 11 ต.แม่พูล อ.ลับแล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยที่ได้รับบ้านน็อคดาวน์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุตนและครอบครัว รวมทั้งลูกบ้านจำนวนเกือบ 30 ครอบครัว อพยพมาอาศัยอยู่ที่อาคารเรียนของโรงเรียนบ้านหัวดง ซึ่งจัดเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบภัย ถึงปัจจุบันเหลือเพียง 13 ครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ ส่วนที่เหลือรอบ้านน็อคดาวน์ไม่ไหว ยอมเสี่ยงภัยโดยย้ายกลับไปอยู่ที่เดิม หากจังหวัดยืนยันว่าปลายปีนี้ผู้ประสบภัยจะได้ย้ายเข้าไปอยู่บ้านน็อคดาวน์ทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่ดี ทุกคนจะได้สบายใจ

แม่เฒ่านอนร้องไห้รัฐชดเชยน้อย

ขณะที่ นางสาลี่ หริ่มสืบ อายุ 64 ปี ชาวบ้าน ต.จำปาหล่อ กล่าวว่า มีที่นาอยู่จำนวน 20 ไร่ และเมื่อถูกน้ำท่วมหมด ทำให้ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งรายได้ทำนา ซึ่งในปีนี้ต้องสูญสิ้นไปกับน้ำ

"เวลานี้ฉันไม่มีอะไรเหลือแล้ว นอนก็ไม่หลับ บางวันนอนร้องไห้ทั้งคืน เพราะเกิดอาการเครียด เนื่องจากไม่เคยพบกับเหตุการณ์น้ำท่วมมากมายขนาดนี้ ซึ่งเมื่อปี 2538 ระดับน้ำถือว่ามากก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข้าวในนาเสียหาย และยังสามารถนำข้าวไปขายส่งลูกเรียนหนังสือได้ แต่ในปีนี้น้ำได้ท่วมที่นาทั้งหมด แล้วแบบนี้ชาวบ้านอย่างฉันจะเอาอะไรกิน หนี้สินก็ต้องใช้เจ้าหนี้ ปีนี้ข้าวในนาล่มหมด แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน" นางสาลี่ กล่าวและว่า เงินของทางรัฐบาลที่จะชดเชยให้ แค่ไร่ละ 200-300 บาทต่อไร่ ถือว่าน้อยมาก เป็นการบั่นทอนจิตใจชาวไร่ ชาวนา จนทำให้เกิดความเครียด ถือว่าเป็นการทำร้ายเกษตรกรมากกว่า

"อยากให้รัฐบาลช่วยมากกว่านี้"


ด้าน นายประสาน น้อยโสภน อายุ 39 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต. ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า ตอนนี้หมดตัวแล้ว ฐานะครอบครัวก็ไม่ดี อาศัยทำนาหาเลี้ยงครอบครัวไปปีๆ หนึ่งเท่านั้น ปีหนึ่งจะได้เงินประมาณ 6-7 หมื่นบาท เฉพาะทำนาเพียงอย่างเดียว รายได้อื่นๆ ก็ไม่ค่อยมี ทั้งนี้ เมื่อที่นาถูกน้ำท่วม ไม่รู้ว่าจะหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไร เพราะลูกก็ต้องเรียน ค่าใช้จ่ายก็ต้องมี รัฐบาลชดเชยแค่ไร่ละ 200-300 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก และเงินที่รัฐบาลจะชดใช้ให้ หากจะนำมาเป็นค่ายา ค่าปุ๋ย ยังไม่พอเลย ขอถามว่า เหตุที่น้ำท่วมขนาดนี้ ความผิดอยู่ที่ใคร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วน นางลัดดา จำนงค์เวช อายุ 43 ปี กล่าวว่า มีอาชีพทำนาเลี้ยงครอบครัวอยู่ประมาณ 10 กว่าไร่ ปีนี้ปริมาณน้ำมีมาก และชลประทานปล่อยน้ำเข้านาอีก โดยบอกว่าเพื่อคนกรุงเทพฯ ซึ่งอยากถามว่า แล้วคนกรุงเทพฯ ช่วยเหลืออะไรชาวนาอย่างพวกเราบ้าง ตนไม่ว่าอะไรที่จะให้มีการผันน้ำเข้าท่วมที่นา แต่เมื่อพวกตนหมดตัว รัฐบาลก็น่าจะชดใช้ให้คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ด้าน นายดิเรก วงษ์โทน รองนายก อบต.ศาลาแดง กล่าวว่า ไม่ทราบว่า การคำนวณน้ำของกรมชลประทานในปัจจุบัน มีความแม่นยำขนาดไหน ทำไมปีนี้น้ำถึงได้ท่วมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน จ.อ่างทอง โดยเฉพาะ ต.ศาลาแดง ต.ป่างิ้ว ที่น้ำไม่เคยท่วมเลย แต่ในปีนี้น้ำท่วมอย่างมาก จนประชาชนต้องเดือดร้อน ไหนทางกรมชลประทานบอกว่า ปีนี้น้ำน้อย น้ำจะไม่ท่วม และอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบผู้ที่ประสบปัญหา ท้ายที่สุดคิดว่าประชาชน ชาวนา ชาวไร่ คงจะต้องรับผิดชอบตัวเอง

"รอรัฐบาลอนุมัติช่วยเหลือมากกว่านี้"


นายวิชิต ช่วยพิทักษ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การช่วยเหลือต้องทำตามระเบียบของกระทรวงการคลัง พื้นที่การเกษตรประเภทนาข้าว จะได้รับการชดเชย 243 บาทต่อไร่ พื้นที่การเกษตรประเภทพืชไร่ จะได้รับการชดเชย 289 บาทต่อไร่ และพื้นที่การเกษตรประเภทพืชสวนและอื่นๆ จะได้รับการชดเชย 369 บาทต่อไร่ หากจะมีการชดเชยที่มากกว่านี้ คงจะต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ผู้ใหญ่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีการชดเชยเท่าไร

ชาวบางระกำโวยถุงยังชีพ

นายเสงี่ยม อายุ 45 ปี ราษฎรบ้านชุมแสงสงคราม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า หลังจากจังหวัดพิษณุโลกได้นำถุงยังชีพไปมอบให้แล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่เพียงพอและไม่ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากถุงยังชีพที่นำไปมอบนั้น ทราบว่ามีการจัดซื้อในราคาถุงละ 300-350 บาท ส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร 1-2 ลิตร ข้าวสุกกระป๋อง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำปลา น้ำตาลและอื่นๆ ทั้งที่หลายอย่างเป็นสิ่งของไม่จำเป็นต่อผู้ประสบภัยในพื้นที่ อ.บางระกำ จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดซื้อสิ่งของไปช่วยเหลือน่าจะสอบถามผู้ประสบอุทกภัยบ้าง

ผู้ประสบภัยรายนี้ กล่าวต่อว่า หากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานหรือผู้มีจิตศรัทธาได้จัดซื้อถุงยังชีพเป็นข้าวสาร 1 ถัง (16 ลิตร) น้ำมันพืชขวด 2 ลิตร เกลือป่นหรือเกลือเม็ด 1-2 กิโลกรัม ใช้งบประมาณไม่น่าจะเกิน 300 บาท แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะข้าวสารสามารถใช้หุงกินไปได้หลายวัน ส่วนเกลือและน้ำมันพืช นำไปใช้สำหรับปรุงอาหาร ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากการจับสัตว์น้ำในพื้นที่ นำมาปรุงเป็นอาหารได้อยู่แล้ว และเกลือยังสามารถนำไปหมักปลาตากแห้งถนอมอาหารเก็บไว้ได้นาน ในขณะที่สิ่งของที่นำไปแจกนั้นไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมแต่อย่างใด มีแต่เพียงร้านค้าที่จะได้รับผลประโยชน์ เพราะชาวบ้านนำไปขายให้ในราคาถูกๆ

ปภ.เตือนรับมือน้ำเพิ่ม24-26ต.ค.


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั้ง จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา และการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีแนวโน้มเริ่มลดลง เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีฝนตกน้อยลงก็ตาม แต่พื้นที่น้ำท่วมในแถบภาคกลางตอนล่างริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ยังคงท่วมสูง และยาวนาวกว่าที่เคยประสบมาในปี 2538 จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มความระมัดระวังภัย อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และขอให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าประมาทอย่างเด็ดขาด

ในส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพฯ ให้ระวังน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 23-26 ตุลาคมนี้ โดยให้เสริมแนวกระสอบทรายให้สูงและแข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คาดว่าจะสูงขึ้นอีกประมาณ 30-40 ซม. จากภาวะน้ำทะเลหนุน อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวและว่า รวมทั้งพื้นที่ในเขตชลประทานบริเวณทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและตะวันออก และพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก และพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากจะมีการระบายน้ำเพิ่มเติมในช่วงน้ำหลากสูงสุดและน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 24-26 ตุลาคมนี้

กทม.รับมือน้ำเหนือ-ทะเลหนุน 23-25 ต.ค.นี้


ว่าที่ ร.ต.เศวตชัย ทรัพย์บุญมี ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 10-20 เซนติเมตร และน้ำเหนือได้เคลื่อนมายัง จ.ปทุมธานี จ่อเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว รวมทั้งช่วงวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ จะมีน้ำหนุนสูง เขตจึงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์

ด้าน นายไพโรจน์ สุดใจ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวว่า เขตคลองสามวา มั่นใจว่าปริมาณน้ำระลอกนี้จะไม่ส่งผลน้ำท่วมในพื้นที่ที่อยู่ในคันกั้นน้ำ ในส่วนของชุมชนนอกคันกั้นน้ำ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันน้ำท่วมอยู่แล้ว เขตได้ประสานสำนักการระบายน้ำช่วยเปิดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบในช่วงที่ไม่มีฝน เพื่อลดระดับน้ำในคลองแสนแสบบางส่วน และมีคันดินป้องกันริมคลองลำมะเขือขื่น ที่จะรับสถานการณ์น้ำในระยะยาวได้ ประชาชนสามารถขอกระสอบทรายได้ที่สำนักงานเขต มีแจกไม่จำกัดจำนวน

ด้าน นายพรเลิศ พันธุ์วัฒนา ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวว่า เขตลาดกระบังเตรียมรับสถานการณ์ด้วยการเสริมคันดินให้สูงขึ้นเกือบ 1 เมตร ที่บริเวณขอบถนน และพร้อมแจกกระสอบทรายให้ประชาชนที่เดือดร้อน และประชาชนสามารถรับได้ที่สำนักงานเขต หรือในพื้นที่ชุมชน เขตจะนำทรายและกระสอบทรายไปไว้ที่วัดในชุมชน เพื่อความสะดวกให้ประชาชนมานำไปใช้กั้นน้ำเข้าบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ชุมชนริมคลองไม่มีโอกาสป้องกัน เพราะไม่มีแนวเขื่อน ทั้งนี้ ยอมรับว่าหนักใจ แต่ในการลงพื้นที่พบประชาชนแนวคลอง ประชาชนรู้สภาพและเข้าใจว่าปีนี้ปริมาณน้ำมากจริงๆ ซึ่งเขตช่วยเหลืออย่างเต็มที่


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์