ปิดฉากสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง บรรลุปฏิญญาหัวหิน



ปิดฉากประชุมสุดยอดผู้นำลุ่ม น้ำโขงบรรลุปฏิญญาหัวหิน “เอ็มอาร์ซี ซัมมิท” เตรียมแผนพัฒนาร่วม 5 ปี “ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี รับลูกข้อเสนอดึงภาคสังคม เอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาแม่น้ำโขง ส่วนนายกรัฐมนตรีลาว วอน “จีน – พม่า” เข้าร่วมภาคี พร้อมแนะให้เอ็มอาร์ซีปรับบทบาท...

เมื่อ วันที่ 5 เม.ย. มีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) และ รัฐบาลไทย เป็นวันสุดท้าย โดยมีผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีของ 4 ชาติ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายบัวสอน บุปผาวัน นายกรัฐมนตรีของลาว และนายเหงียน ตัน ดุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ร่วมกันลงนามปฏิญญาหัวหินของเอ็มอาร์ซี

นายอภิสิทธิ์ กล่าวสุนทรพจน์ว่า ความร่วมมือในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ได้เดินทางมา ครบ 15 ปี ภายใต้ข้อตกลงของ 4 ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่อยากเห็นการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน จนนำมาสู่เวทีเอ็มอาร์ซี ซัมมิท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการ พร้อม 2 ประเทศคู่เจรจา คือจีนและพม่า เพื่อร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่แค่ความร่วมมือของภาครัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคม ที่ต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าแม่น้ำโขงจะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“ การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องอยู่ในความห่วงใยของระดับผู้นำ เพราะผลกระทบจากธรรมชาติ และการพัฒนามีผลต่อแม่น้ำโขง ซึ่งไม่อยากให้มองแม่น้ำโขงแค่เส้นแบ่งแยกประเทศต่างๆ แต่เป็นศูนย์รวมการเชื่อมโยงประเทศอาเซียน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผมขอขอบคุณประเทศจีน ที่ให้ความร่วมมือที่มีคุณค่าโดยเฉพาะข้อมูลน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำ ผมหวังว่าความร่วมมือกับจีนจะเป็นการถาวร ตลอดไป ตลอดจนขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาค และให้ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับแม่น้ำโขงด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ประเทศในเอ็มอาร์ซีให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ผ่านแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงแบบบูรณาการ ระหว่างปี 2553-2558 โดยในปีต่อไปจะเน้นความร่วมมือทางด้านการใช้น้ำ ทรัพยากรอย่างหลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะมาจากสาเหตุจากธรรมชาติ และจากมนุษย์ เพื่อปกป้องระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนและถาวร โดยหวังว่าจะให้ผู้ใช้ลุ่มน้ำโขง มาเข้ามาเป็นภาคีสมาชิกในเอ็มอาร์ซี ในอนาคต นอกจากนี้ในปฏิญญาหัวหิน ยังพูดถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของแม่น้ำโขง และเตรียมจะริเริ่ม ความช่วยเหลือทางมีความมั่นคงทางการเงินร่วมกับทางธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย

ที่ประชุมสรุปว่า จะมีการประชุมเอ็มอาร์ซีซัมมิททุกๆ 4 ปี โดยจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร ด้านนายบัวสอน กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศในอาเซียน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และลาวก็ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ เอ็มอาร์ซี เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และการลดผลกระทบจากความแปรปรวนที่เกิดขึ้น โดยอยากเห็นวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิภาพนำเอาผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่สมาชิกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพิ่มความชัดเจนต่อการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากเรียกร้องให้จีน และพม่าพิจารณาเข้ามาเป็นสมาชิกในเอ็มอาร์ซี โดยเร็ว

ขณะที่ นายสง เทา รมช.การต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขงให้เกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืน ซึ่งจีนให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนา และการอนุรักษ์ลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันในทุกๆ ประเทศ ส่วนกรณีความห่วงใยของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้น จีนมีมาตรการหลายอย่างในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาจีนก็พร้อมยินดีจ่าย โดยเฉพาะการยกเลิกการสร้างเขื่อนเม็งสงที่จะมีผลกระทบต่อสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง พร้อมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงในการลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยืนยันว่าการสร้างเขื่อนในจีนไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับเอ็มอาร์ซีมาก โดยมีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง และ จีนขอเสนอให้เอ็มอาร์ซีสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันให้มากขึ้นในลุ่มน้ำ โขงตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคประชาชนกับสื่อให้มากขึ้นด้วย และ จะมีการขยายความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยขยายการเดินเรือให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนั้นจีนยินดีที่จะให้ข้อมูลด้านการเกษตร ประมง สิ่งแวดล้อม และชลประทานกับประเทศในลุ่มน้ำโขงอย่างเต็มที่ รวมทั้งการลดผลกระทบด้านภัยพิบัติต่างๆ ด้วย ที่สำคัญคือการพัฒนาพลังงานน้ำให้เกิดความยั่งยืน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและด้านเทคนิคระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์