ทบทวนพรบ.เหล้า ลดอายุคนซื้อ จาก25 เหลือ18ปี

"พิจารณาลดอายุ"


ความคืบหน้าเรื่องร่าง พ.รบ.ควบคุมเหล้า ที่ถูกพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ตีกลับมาให้มีการทบทวนเรื่องอายุของผู้ซื้อนั้น นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเรื่องนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

จะมีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ในการพิจารณาในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะมีแนวโน้มพิจารณาลดอายุเป็นห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี ก่อนจะนำเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 31 ต.ค. นี้

"ต้องพิจารณาอีกครั้ง"


อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในการพูดคุยก็มีอนุมานเอาว่า บุคคลซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคลมีวิจารณญาณ ความคิดความอ่าน จะไม่ถูกชักจูง หรือหลอกลวงจากโฆษณาโดยง่าย ส่วนเหตุผลที่เสนออายุ 25 ปี เนื่องจากในช่วงอายุดังกล่าวนี้เป็นช่วงอายุที่มีการเกิดอาชญากรรมร้ายแรง อุบัติเหตุจากการดื่มสุรา มีความคึกคะนองสูง

มีกำลังทรัพย์มาก ทำให้หลายฝ่ายมีแนวโน้มที่จะห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี แทน คงต้องขึ้นอยู่ กับคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง ส่วนการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาเสนออัตราภาษีที่เหมาะสมต่อไป

"ในทางปฏิบัติไม่สามารถห้ามได้"


นพ.ธวัชกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องการยกเว้นการถ่ายทอดสดรายการกีฬาจากต่างประเทศ ในคำสั่งจะมีการพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง โดยหลักการ ประเด็นนี้ต้องคงยืนไว้เพื่อส่งเสริมการกีฬา หากมีการระงับการถ่ายทอดสด บรรดาคอกีฬาจำนวนหนึ่งก็จะดิ้นรนหามาชมจนได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออินเตอร์เน็ต สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดาวเทียม ที่อาจจะเล็ดลอดออกไปโดยไม่สามารถปิดกั้นได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงไม่สามารถห้ามได้อย่างเด็ดขาด

ได้มีการพูดคุยกับบรรดาคอกีฬาก็บอกว่าไม่ได้ตั้งใจดูโฆษณา แต่ถ้าทำภาพเบลอ ก็จะเห็นตัวนักกีฬาไม่ชัด คงต้องดูระดับการยอมรับในสังคมด้วย การควบคุมไม่ต้องสมบูรณ์ 100% เป้าหมายสำคัญคือการลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ให้เข้าสู่วงจรน้ำเมาน้อยที่สุด ซึ่งผลการวิจัยชัดเจนว่าโฆษณามีผลกับเยาวชน

"เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหา"


ส่วนกรณีน้ำดื่มที่มีโลโก้ตรายี่ห้อเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นโฆษณาน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีความชัดเจนว่าเป็นน้ำดื่ม ก็คงไม่ห้ามหรือเข้าไปก้าวล่วงจนทำให้เกิดปัญหา การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหา จากหลายๆมาตรการ ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครอบคลุมทั้งหมด ในทุกๆด้าน ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือ ส่วนประเด็นการที่สมาพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมฟ้องศาลปกครองนั้น

นพ.ธวัชปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ด้านนางวิมลวรรณ อุดมพร รองประธานฝ่ายบริหารนิเทศสัมพันธ์ บริษัทริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด หนึ่งในสมาชิกสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ FACT เปิดเผยถึงจุดยืน 3 ข้อหลัก หลังจากรับทราบรายละเอียดของ พ.ร.บ.ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า 1. ไม่ถูกต้องในการจำกัดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน 2. ไม่เท่าเทียมในแง่ของการยกเว้นโฆษณาจากสื่อต่างประเทศที่มาจากกีฬา 3. ไม่มีความชัดเจนในการห้ามว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้

"4 ข้อหลักในการแก้ปัญหา"


ในส่วนของริชมอนเด้ ขณะนี้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เพราะผลของข้อห้ามและการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำให้การจัดกิจกรรม จอห์นนี่วอกเกอร์คลาสลิก ที่ทุ่มงบไปกว่า 2,000 ล้านบาท จัดแข่งขันกอล์ฟที่ประเทศไทย ในเดือน มี.ค. 2550 ต้องล้มไป ขณะที่ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้ที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปกว่า 7,000-8,000 ล้านบาทด้วย นอกจากนี้ งบโฆษณาที่ทุ่มไปอีกกว่า 100 ล้านบาท สำหรับทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ 3 ชุด ที่เตรียมออกอากาศในเดือน พ.ย. นี้ ก็สูญไปด้วย

ขณะที่นายวรเทพ รางชัยกุล ประธานบริหาร กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า มี 4 ข้อหลักที่รัฐน่าจะให้ความสำคัญ คือ 1. การสร้างค่านิยมในสังคมให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก 2. การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ

"อยากให้รัฐฯมีแนวทางให้แน่นอนเพื่อจุดยืนของผู้ผลิต"


3. ระบบการจัดเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ และ 4. ใช้มาตรฐานการปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก ให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมมาหารือกัน ก่อนที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะออกมาใช้ปฏิบัติจริง เพื่อเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย

อยากบอกภาครัฐว่า นโยบายสาธารณะใดๆ ก็ตามที่ขาดการหารือร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสังคม ถือเป็นนโยบายเผด็จการ แล้วจะนำพาประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ขณะนี้คนทำธุรกิจตกใจและหาจุดยืนไม่ได้ว่า นโยบายของภาครัฐไปในทิศทางไหนกันแน่ อยากให้ภาครัฐพิจารณาด้วยว่ามาตรการข้อห้ามต่างๆ ผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จะกระทบต่อเนื่องไปถึงบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด ซึ่งคนงานทั้งระบบมีมากกว่า 100,000 คน ต้องตกงาน นายวรเทพกล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์