สธ.ส่งเสริมยาสมุนไพรอีก 6 รายการประจำตู้ยา คู่ครัวเรือน

สธ. 31 มี.ค. - รมช.สธ.เตรียมนำยาสมุนไพร 6 รายการ เข้าตู้ยาสามัญประจำบ้าน ไว้ใช้ใกล้ตัวยามจำเป็น ในขณะที่ 8 จังหวัดภาคกลาง นำร่องเพิ่มยาจากสมุนไพรอีก 22 รายการ เข้าในบัญชียาของโรงพยาบาลกว่า 60 แห่ง ใช้แทนยาแผนปัจจุบัน

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการนำร่องใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน

และการส่งเสริมยาสมุนไพรเป็นยาสามัญประจำบ้านว่า กระทรวงฯ มีนโยบายส่งเสริมให้สถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศใช้ยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคควบคู่กับยาแผนปัจจุบันให้มีมากกว่า 19 รายการ ที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ใช้มากว่า 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2547 จนถึงขั้นการใช้ทดแทนเพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศซึ่งเป็นยาที่เกิดจากสังเคราะห์ทางเคมี ส่วนยาสมุนไพรถือว่าเป็นยาต้นแบบที่มีในธรรมชาติ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยจะเพิ่มยาสมุนไพรที่สถานพยาบาลผลิตและใช้ในโรงพยาบาล และยังไม่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ อีก 22 รายการ ซึ่งนำร่องในสถานพยาบาลของ 8 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวม 66 แห่ง

ยาสมุนไพร 22 รายการ ได้แก่ เจลว่านหางจระเข้ มะขามแขก หญ้าหนวดแมว เพชรสังฆาต กระเทียมแคปซูล ธรณีสัณฑะฆาต ขี้เหล็ก บอระเพ็ด มะระขี้นก สหัสธารา เหงือกปลาหมอ ลูกยอ กระชายดำ ส้มแขก เทพธารา ยาห้าราก น้ำมันไพร ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาผงคำฝอย ยาผงหญ้าดอกขาว ยาผงชะพลู เถาวัลย์เปรียง ซึ่งยาดังกล่าวผ่านการวิจัยทางคลินิกว่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้ไม่น้อยหน้ายาแผนปัจจุบัน ราคาถูกกว่าเกือบเท่าตัว และหาได้ง่ายในท้องถิ่นอยู่แล้ว และจะมีการติดตามผลทุก 6 เดือน หากได้ผลดีจะขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้จะขยายผลการใช้ยาสมุนไพรรูปแบบทันสมัย ใช้ง่าย ให้เข้าถึงครัวเรือน โดยให้เป็นยาสามัญประจำบ้านใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น

ที่แนะนำว่าควรมีไว้ในตู้ยาประจำบ้าน 6 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นการปลุกกระแสส่งเสริมให้ประชาชนมียาสมุนไพรไทยใช้ในบ้านครั้งแรกของไทย ได้แก่ 1. ยาแก้ไอมะแว้ง 2. ขมิ้นชัน แก้ท้องอืด แน่นท้อง 3. ฟ้าทะลายโจร แก้หวัด แก้เจ็บคอ 4. ครีมพญายอ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ผื่น คัน งูสวัด 5. เจลว่านหางจระเข้ แก้พิษไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 6. เจลไพล ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง แต่ละชนิดจะมีวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ และวิธีการใช้ยา การเก็บรักษาที่ถูกต้อง มั่นใจว่าคนไทยจะรู้จักและหันมาใช้สมุนไพรไทยกันมากขึ้น

ด้าน พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันสมุนไพรมีการแปรรูปผลิตเป็นยาหลายรูปแบบ

ทั้งเป็นยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาทา และชาชงต่าง ๆ เพื่อให้ใช้สะดวกขึ้น ยาจากสมุนไพรหลายชนิดมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ดี จนเป็นที่นิยมแม้ในกลุ่มประเทศทางยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยมะขามแขกแคปซูลซึ่งเป็นยาระบาย จะใช้แทนยาบิสโคดิล (Bisacodyl) ยาสหัสธารา และเถาวัลย์เปรียงแคปซูล มีฤทธิ์บรรเทาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อซึ่งคนไทยป่วยกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แรงงานในชนบท คนสูงอายุ และหนุ่มสาวที่ทำงานในออฟฟิศ สามารถใช้แทนยาโอเฟนาดริน (Ophenadrine+Paracetamol) และยาไดโคฟีแนค (Diclofenac) และได้ผลดีมาก ยาบอระเพ็ดแคปซูล มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร ใช้แทนยาไซโปเฮพทาดีน (Cypoheptadine) เป็นต้น โดยในการใช้ยาสมุนไพร แพทย์แผนปัจจุบันจะเป็นผู้สั่งใช้ ประชาชนทุกสิทธิสามารถใช้ได้เหมือนกันทั้งหมด. -สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์