"ชินวรณ์"ประกาศปฏิทินรับสมัคร-สอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อ ชั้น ม.1 และ ม.4 ในพื้นที่ 8 จังหวัด 24-26 มีนาคม สอบ 28 มีนาคม เหตุครม.ลดพื้นที่เป้าหมาย ประเมินสถานการณ์ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ส่งผลกระทบความปลอดภัยของเด็ก นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับแจกปฏิทินวันรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2553 ในพื้นที่ 8 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคง หลังจากประกาศเลื่อนจากกำหนดเดิม เพราะเกรงได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ในวันเดียวกันนี้ ครม.จะลดพื้นที่เป้าหมายการบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกอบกับการติดตามสถานการณ์แล้วเชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบเรื่องความสะดวกและปลอดภัยของนักเรียน - สอบคัดเลือก นักเรียนปกติ วันที่ 28 มีนาคม - มอบตัว วันที่ 3 เมษายน
อีกทั้งผู้ปกครองแสดงความกังวลเรื่องการเลื่อนการรับสมัครสอบที่ผ่านมา ดังนั้น ศธ.และ สพฐ.จึงขอประกาศปฏิทินการรับสมัครนักเรียนทั้งชั้น ม.1 และ ม.4 ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และอีก 7 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งประกอบด้วย จ.ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา เป็นวันที่ 24-26 มีนาคม และจะมีการสอบคัดเลือก ในวันที่ 28 มีนาคม และจะประกาศผลสอบในวันที่ 31 มีนาคม ส่วนการมอบตัวชั้น ม.1 ในวันที่ 3 เมษายน และชั้น ม.4 วันที่ 4 เมษายน
"เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเปิดภาคเรียนและคลายความกังวลของผู้ปกครอง ผมจึงตัดสินใจให้เปิดรับสมัครนักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น อยากจะขอร้องกลุ่มคนเสื้อแดงให้ความร่วมมือกับการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อให้นักเรียนได้รับความปลอดภัยสูงสุด หากผู้ปกครองมีข้อสงสัยประการใดให้โทรศัพท์สอบถามได้ที่หมายเลขด่วน 1579 ของ ศธ." รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า นายชินวรณ์ได้เห็นชอบปฏิทินการรับนักเรียนดังนี้
ชั้น ม.1
- รับสมัครนักเรียนปกติ วันที่ 24-26 มีนาคม
- ส่วนนักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 24-25 มีนาคม
นักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 26 มีนาคม
- ประกาศผลและรายงานตัวนักเรียนปกติ วันที่ 31 มีนาคม
นักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 27 มีนาคม
- จับสลาก วันที่ 1 เมษายน
ชั้น ม.4
- รับสมัครนักเรียนปกติ วันที่ 24-26 มีนาคม
นักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 24-25 มีนาคม
- สอบคักเลือกนักเรียนปกติ วันที่ 28 มีนาคม
นักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 26 มีนาคม
- ประกาศผลและรายงานตัวนักเรียนปกติ วันที่ 31 มีนาคม
นักเรียนความสามารถพิเศษ วันที่ 27 มีนาคม
- รายงานตัวนักเรียนจบ ม.3 โรงเรียนเดิม วันที่ 2 เมษายน
- มอบตัว วันที่ 4 เมษายน
ศธ.รับสมัครนร.เข้าม.1-ม.4 ใน8จว.24-26มี.ค.
นายชินภัทรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ สพฐ.ยังได้เพิ่มช่องทางการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียนมัธยม 12 แห่ง ที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยสามารถสมัครได้ที่โรงเรียน ผ่านอินเตอร์เน็ต ทางไปรษณีย์ สมัครที่ศูนย์ประสานงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กรุงเทพมหานคร ทั้งเขต 1, เขต 2 และเขต 3 หรือสมัครได้ที่โรงเรียนอื่นที่อยู่รอบนอกที่จัดเป็นจุดรับสมัครเพิ่มเติมดังนี้
- ผู้ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย และโรงเรียนศรีอยุธยา ให้สมัครได้ที่ โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย
- ผู้ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา สมัครได้ที่โรงเรียนมหรรณพาราม
- ผู้ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย สมัครได้ที่โรงเรียนแจงร้อนวิทยา
- ผู้ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนวัดบวรนิเวศ สมัครได้ที่โรงเรียนนนทรีวิทยาลัย
- ผู้ที่ต้องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนราชวินิตมัธยม โรงเรียนราชวินิตประถม โรงเรียนวัดราชบพิตร สมัครได้ที่โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
ทั้งนี้ สำหรับสนามสอบ ยังคงใช้สถานที่เดิมของโรงเรียนที่นักเรียนสมัครเข้าเรียน แต่ก็ได้ขอให้สถานศึกษาเตรียมแผนรองรับ โดยพิจารณาจากการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้นักเรียนและผู้ปกครองทราบโดยเร็ว
นายชินภัทรกล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นการป้องกันการใช้สิทธิซ้ำซ้อนของนักเรียนที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ 8 จังหวัดดังกล่าว
ซึ่งได้สิทธิสมัครและสอบคัดเลือกไปแล้วตามปฏิทินเดิม สพฐ.จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สพท. 169 เขตพื้นที่ฯ ใน 68 จังหวัด ให้เลื่อนวันประกาศผลและรายงานตัวพร้อมกัน ในวันที่ 31 มีนาคม หากนักเรียนคนใดไม่มารายงานตัวในวันดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ได้เปรียบนักเรียนในพื้นที่ 8 จังหวัดที่เพิ่งจะประกาศรับสมัคร ส่วนข้อห่วงใยว่าจะมีเด็กในพื้นที่ 68 จังหวัดที่สอบคัดเลือกไปแล้วไม่ได้ จะมาสมัครสอบซ้ำในโรงเรียนพื้นที่ 8 จังหวัด ต้องขอให้มองข้ามปัญหาส่วนนี้ไป เพื่อให้การรับสมัครเดินหน้าไปได้ และจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะสุดท้ายเด็กก็ต้องเข้าเรียนได้เพียงที่เดียว
อย่างไรก็ตาม หากใครมีปัญหาร้องเรียนหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียนของ สพฐ. โทร.0-2288-5502-4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ ผู้ปกครองและนักเรียนจากโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ กทม. เดินทางมายื่นหนังสือขอให้ ศธ.ชี้แจงความชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดการรับสมัครนักเรียน พร้อมทั้งเรียกร้องไม่ให้มีการเลื่อนการรับสมัครออกไปอีก เพราะทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเกิดความกังวลและเครียดมาก โดยนางอารียา ทองไท ประธานเครือข่ายสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ กล่าวว่า ผู้ปกครองกำลังมีความกังวลในเรื่องนี้ จึงอยากเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เห็นกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ดังนั้น จะทำอะไรก็ขอให้คำนึงถึงเด็กด้วย เช่น ในวันสอบเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม อาทิ โรงเรียนสตรีวิทยา ขอให้ผู้ชุมนุมลดการใช้เสียง และลดดีกรีความรุนแรงของการชุมนุมลง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่ต้องใช้สมาธิในการทำข้อสอบ
นายนนท์ปวิธ ซึ่งจะสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมคิดด้วยว่า จะมีผลกระทบอย่างไรกับนักเรียนบ้าง อยากให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของตัวเอง
ด้านนายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การรับสมัครนักศึกษาในส่วนของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในพื้นที่ 8 จังหวัดดังกล่าวนั้น ตนได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัด ขอให้สถานศึกษาประชุมวางแผนกำหนดการรับสมัครนักศึกษา วันสอบคัดเลือก รายงานตัว และมอบตัว ภายหลังจากที่เลื่อนการรับสมัครจากวันที่ 12-23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการรับนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษา แต่ทั้งนี้ กระบวนการรับนักศึกษาทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน