เมืองกรุงเตรียมรับมือ23-25ตค.ทะเลหนุนสูง อยุธยาบวงสรวงหนีน้ำสุพรรณป้องกันบึงฉวาก
ในหลวงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่รับน้ำพระราชทานทั้ง 3 แห่งอย่างเต็มที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร อธิบดีกรมชลประทานเผยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังต้องผจญน้ำท่วมต่อไปอีก แต่เชื่อเดือนพ.ย.สถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ กทม.เตรียมรับมือน้ำเหนือหลาก หลังได้ข้อมูลความแรงของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาไหลแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และปลายเดือนช่วงวันที่ 23-25 ต.ค.จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุด ทำหนังสือแจ้งกรมชล เร่งระบายน้ำคลองหกวาสายล่างออกกทม. หลังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนสูง 50 ซ.ม.ทั้งที่เพิ่งแห้งไปหมาดๆ สุพรรณฯเร่งป้องกันบึงฉวากหวั่นน้ำทะลักท่วม
-ในหลวงพระราชทานที่รับน้ำอีก 3 แห่ง
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผันน้ำเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์ที่ใช้รองรับน้ำอยู่ในขณะนี้เพิ่มได้อีก จนกว่าจะเต็มการรองรับ ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น กรมชลประทาน จะเร่งสำรวจว่าที่ดินส่วนพระองค์ทั้ง 3 แห่ง สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีกจำนวนเท่าใด
นายสามารถกล่าวว่า สำหรับที่ดินส่วนพระองค์ทั้ง 3 แห่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าไปในขณะนี้ ประกอบด้วย ทุ่งมะขามหย่อง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระพระราม 9 รังสิต จังหวัดปทุมธานี และทะเลสาบบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
-น้ำเจ้าพระยาหลากแรงสุดรอบ60ปี
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.-13 ต.ค มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 46 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 47 คน สูญหาย 2 คน พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1.8 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 305 ล้านบาท ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายแล้ว 28 จังหวัด และยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี และกรุงเทพฯ
นายอนุชากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์วันนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5,520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว นับเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2489 เนื่องจากมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงมาผนวกกับน้ำจากจังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือเริ่มมีฝนตกลดลง น่าจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง ประกอบกับช่วงนี้น้ำทะเลหนุนต่ำก็จะทำให้ปริมาณน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ไหลลงมาสู่กรุงเทพฯ ไม่น่าจะล้นตลิ่ง ยกเว้นจะเกิดเหตุสุดวิสัยจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จนทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากที่สุดเพื่อจะได้ลดการระบายน้ำได้ในช่วงที่น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งในวันที่ 23-25 ต.ค.นี้
-เตือนกทม.ฝั่งตะวันออกท่วมแน่
นายอนุชากล่าวอีกว่า พื้นที่กทม.น่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตน้ำท่วมหนักในช่วงปีนี้ไปได้ เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานที่ดินเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในจังหวัดสระบุรีและปทุมธานีให้ระบายน้ำออกก่อนที่ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลจะไหลมาถึงกรุงเทพฯ และคงต้องขอบคุณชาวต่างจังหวัดที่ให้ความร่วมมือเสียสละพื้นที่เพื่อช่วยกันมิให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ หากน้ำท่วมกรุงเทพฯ คาดจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,000 ล้านบาท
"จุดที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเป็นพิเศษในช่วงนี้ ได้แก่ จังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและเป็นพื้นที่ที่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกทม.ฝั่งตะวันออกและปริมณฑล ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีการถมที่ดินซึ่งเคยเป็นแอ่งกระทะและสร้างอยู่ในพื้นที่กีดขวางทางน้ำไหลโดยไม่ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้หากมีฝนตกหนัก และน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ไหลลงมาสมทบและระบายน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่พื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก จึงขอให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูงในช่วงที่ฝนตกหนัก และให้นำกระสอบทรายมาเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำด้วย" อธิบดี ปภ. กล่าว