รุกห้ามโชว์เหล้า ร้านสะดวกซื้อ

สธ.แจงแบนโฆษณา บริษัทเบียร์ไม่ต้าน


"หมอมงคล"เปิดรายละเอียดเพิ่มเติม มาตรการห้ามโฆษณาเหล้า ระบุจะใช้มาตรการเดียวกับที่ใช้กับบุหรี่ ห้ามโชว์ในร้านสะดวกซื้อ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เยาวชนถูกยั่วยุอยากดื่ม ชี้แจงการห้ามจัดเบียร์การ์เดน เนื่องจากอยู่ในที่สาธาณะ ห้ามตั้งป้ายหรือร่มแสดงยี่ห้อ ยั่วยุคนที่เดินผ่านไปมา ส่วนสาวพริตตี้เบียร์ มีได้เฉพาะในผับที่เป็นที่ขายแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ ทางด้านผู้ประกอบค่ายเบียร์สิงห์ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยกตัวอย่างเหล้าขาว ไม่เคยโฆษณาเลย ยอดขายกับพุ่งขึ้นตลอด กินส่วนแบ่งตลาดไปแล้วถึง 60% ส่วนค่ายไฮเนเก้นประกาศไม่คิดหาช่องทางกฎหมาย แต่ขอเวลาในการปรับตัว เพราะแผนส่วนใหญ่วางไปล่วงหน้าแล้ว

จากกรณีน.พ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ประกาศมาตรการลดการดื่มเหล้า ด้วยการจะห้ามการโฆษณาเหล้าผ่านสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่การจัดบูธส่งเสริมการขาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ชี้ว่าสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะคนไทยหมดเปลืองไปกับการดื่มเหล้าปีที่แล้วมากกว่า 2 แสนล้าน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

"มาตรการณ์ห้ามลด แลก แจก แถม"


เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข น.พ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเตรียมออกประกาศควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทุกชนิด 24 ชั่วโมงว่า เชื่อว่าจะสามารถออกประกาศได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะเรียกผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้เกี่ยวข้อง มารับทราบนโยบาย และขอความร่วมมือในการลดความสูญเสียที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยในประกาศจะระบุเงื่อนเวลาที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติเพื่อให้เวลาปรับตัว ก่อนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

"ประกาศดังกล่าวจะห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อทุกชนิดไม่ว่าทางหนึ่งทางใด รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์ในเชิงโฆษณา และการสร้างภาพลักษณ์องค์กรของบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนความกังวลในเรื่องการลดราคาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้บริโภคนั้น จะมีการออกมาตรการห้ามสินค้าแอลกอฮอล์ลด แลก แจก แถม รวมถึงการแจกเสื้อตราสัญลักษณ์ เพราะถือเป็นการส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง" น.พ.มงคลกล่าว

"สามารถทำได้หากอยู่ในที่เฉพาะ"


น.พ.มงคลกล่าวต่อว่า เรื่องการห้ามโฆษณานั้นได้ให้นักกฎหมายได้ตีความอย่างละเอียด การแสดงป้ายหรือสัญลักษณ์ในที่สาธารณะถือเป็นการโฆษณา ไม่สามารถทำได้ รวมถึงป้ายโฆษณาตามอาคาร ถนน และการจัดเทศกาลลานเบียร์ที่อยู่ริมถนนก็ถือเป็นที่สาธารณะเช่นกัน ส่วนพื้นที่ในผับ ร้านอาหาร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยกเว้น เพราะถือว่าเป็นสถานที่เฉพาะและผู้ที่ไปใช้บริการก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการดื่ม การห้ามในสถานที่ส่วนบุคคลจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิ

"การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ เช่น ลานเบียร์ หากสถานที่ขายติดกับพื้นที่สาธารณะ การติดตั้งป้ายโฆษณา ร่มตราสัญลักษณ์ โต๊ะ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นการชักจูง ยั่วยุคนที่ผ่านไปมา แต่หากเป็นการติดป้ายในร้านก็อะลุ้มอล่วยให้ แต่หากเลิกการโฆษณาได้ทั้งหมดก็จะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนคนเชียร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มักใส่ชุดเป็นยี่ห้อต่างๆ นั้น หากอยู่ในสถานที่เฉพาะ เช่น ผับ บาร์ ไม่ได้เป็นการโฆษณาในสถานที่สาธารณะยังสามารถทำได้" น.พ.มงคลกล่าว

"จะดำเนินการคล้ายการห้ามบุหรี่"


น.พ.มงคลกล่าวว่า มาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะดำเนินการคล้ายการห้ามโฆษณาบุหรี่ โดยการวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า ถือเป็นสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อนั้นมีเยาวชนเข้าออกจำนวนมาก การวางสินค้าอย่างเห็นได้ชัดถือเป็นการโฆษณายั่วยุให้เกิดความอยากบริโภค ดังนั้นจะให้ดำเนินมาตรการเดียวกับบุหรี่คือห้ามโชว์สินค้าด้วย และยังคงกำหนดเวลาการจำหน่ายเช่นเดิม ทราบมาว่ามีบริษัทผู้ผลิตหลายรายที่พยายามหาทางออกโดยการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำ โดยใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายอยู่ เพื่อเป็นทางออกในการโฆษณาทำให้ก่ำกึ่งว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดใดแน่ ในส่วนนี้จะให้ทีมกฎหมายดูว่ามีวิธีการควบคุมในส่วนนี้อย่างไรได้บ้าง

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า แผนงานต่อไปคือการผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่สภานิติบัญญัติทันที เชื่อว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านรวดเดียวทั้ง 3 ฉบับ และหากสามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เชื่อว่าอัตราการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ที่แม้จะรณรงค์อย่างเต็มที่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตปีละหลายร้อยคนนั้น ลดลงอย่างแน่นอน ได้มีแนวคิดว่าจะตั้งสำนักงานเพื่อดูแลมาตรการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ โดยเฉพาะ เพราะหากเป็นหน่วยงานอิสระก็จะสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดในการดำเนินการติดตามนโยบายที่ได้ทำขึ้น

"ยังดื่มได้ แต่รัฐมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการโฆษณา"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ต.ค.นี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามารับทราบนโยบายประกาศห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข น.พ.มงคลได้กำชับการทำงานในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบว่าจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด

ที่กระทรวงยุติธรรม นายจรัญ ภักดีธนากุล รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงมาตรการห้ามโฆษณาเหล้า 24 ชั่วโมง ว่าเป็นนโยบายที่ประเทศควรทำมานานก่อนการห้ามโฆษณาบุหรี่ เพราะพิษภัยของสุรามากกว่าบุหรี่ แต่ในอดีตไม่สามารถทำได้ เพราะปริมาณของเงินที่สะพัดในแวดวงอุตสาหกรรมสุรามีจำนวนมาก ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะชักชวนประชาชนให้ร่วมกันทบทวนการวางแนวทางวิถีชีวิตให้อยู่ในคุณภาพมาตรฐานที่ดีขึ้น ประชาชนทั่วไปยังมีเสรีภาพที่จะดื่มสุราได้ แต่รัฐมีหน้าที่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าสุราเป็นของดี และไปเพิ่มหรือกระตุ้นให้เยาวชนหลงผิดไปในการบริโภคสิ่งเหล่านี้ด้วย

"ป้องกันการสูญเสียจากการดื่มเหล้า"


นายจรัญกล่าวว่า การใช้มาตรการห้ามโฆษณาเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องมีกฎหมายเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการในเรื่องของการดื่มสุราในทิศทางเดียวกันกับเรื่องของบุหรี่ ซึ่งตนหารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นอกจากนี้ก็จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ ทบทวนในเรื่องของการเก็บภาษีจากบุหรี่หรือสุราให้เป็นระบบ โดยเฉพาะบุหรี่ สุรา ไวน์ และเบียร์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่การจัดเก็บภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตยังมีช่องว่างอีกมาก จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้าไปสอบสวน ที่สำคัญก็คือการกำหนดราคาของสินค้าบุหรี่และสุราเหล่านี้ไม่อยู่ในมาตรฐานที่ทำกันอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งฐานราคาของสินค้าประเภทมอมเมาประชาชนของเรายังต่างกับประเทศอื่น จึงอาจทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี

"เหล้าเป็นต้นเหตุใหญ่ของอาชญากรรม คดีอาญาส่วนใหญ่ ปัจจัยใหญ่ก็มาจากการขาดสติหลังจากที่ดื่มสุราเข้าไป ไม่นับรวมอุบัติเหตุบนท้องถนน ในโรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆก็มีสาเหตุหลักมาจากการดื่มสุรา รวมทั้งความแตกแยกในครอบครัว และปัญหาสุขภาพของคนไทย ถ้าไม่มีการดื่มสุราการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจะไม่เกิดขึ้นเลย รัฐเองก็ไม่ต้องสูญเสียเงินงบประมาณนับแสนล้านไปกับการรักษาพยาบาลคนดื่มสุราและสูบบุหรี่ จึงจำเป็นต้องนำเอาโทษของสิ่งเหล่านี้เสนอให้ประชาชนได้รับรู้ มากกว่าจะให้บริษัทโฆษณาหากำไรจากการมอมเมาเยาวชน ขณะที่บางประเทศเขาจำกัดการจำหน่ายและการเผยแพร่ กลายเป็นว่าเราตกเป็นเหยื่อให้กับอุตสาหกรรมประเภทนี้" นายจรัญกล่าว

"ยอดการเก็บภาษีลดลง"


นายจรัญกล่าวว่า มาตรการควบคุมสุราอย่างง่ายและรวดเร็ว อาจทำโดยให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดให้สินค้าสุราเป็นสินค้าควบคุมด้านฉลาก และออกระเบียบห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ เหมือนกับบุหรี่ยาสูบ ก็จะทำการห้ามการโฆษณาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงยุติธรรมพร้อมจะให้คำแนะนำกับกระทรวงสาธารณสุขในการยกร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคสุรา ให้มีเนื้อหาเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย

ทางด้านนายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดผ่านสื่อทุกประเภทว่า ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวอาจทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลดลง ตามยอดจำหน่ายสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ที่อาจจะลดลงได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่มีการกำหนดให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะช่วง 22.00-05.00 น.การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก็ลดลง แต่ตนจำตัวเลขไม่ได้ว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามนับว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี และกรมสรรพสามิตก็สนับสนุนแนวทางดังกล่าว พร้อมเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการวางเป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลัง

"แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่"


ในส่วนความเห็นของผู้ผลิตและจำหน่ายสุรา นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา บริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ กล่าวว่า พร้อมที่จะทำตามทุกประการ เพราะมีความเข้าใจในความมุ่งหวังของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และต้องการเห็นประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น แต่อยากถามว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่ สำหรับสินค้าบางชนิดการโฆษณาเป็นสิ่งจำเป็น เหล้าและเบียร์เป็นการสื่อสารกันระหว่างผลิตภัณฑ์และลูกค้า ซึ่งข้อบังคับที่ผ่านมาเราไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณของสินค้า ทำให้การสร้างแบรนด์เป็นไปด้วยความลำบากอยู่แล้ว การห้ามโฆษณาจะส่งผลให้คนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่สำคัญ เหล้าขาวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าไม่เคยมีการโฆษณา แต่ยอดขายภายใน 5 ปีหลังนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา และกินส่วนแบ่งของตลาดไปร้อยละ 60

"ส่วนผลกระทบจากข้อห้ามนี้ ต้องรอดูรายละเอียดของของพ.ร.บ.ว่ามีข้อห้ามอย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่ทราบมายังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร อย่างการยกเว้นการโฆษณาที่ติดมากับการถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ เป็นเหมือนการกระทำใน 2 มาตรฐาน เพราะทางเทคนิคแล้วสามารถตัดออกหรือทำเบลอได้ หากห้ามโฆษณาควรห้ามเหมือนกันทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุว่าไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ใช่แค่บริษัทผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากในธุรกิจต่อเนื่องรับผลกระทบ ทุกอย่างต้องดูความชัดเจนของข้อห้ามก่อน" นายปิติกล่าว

"ต้องเกิดสงครามราคาแน่นอน"


ด้านเบียร์ไฮเนเก้น นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผอ.ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัทไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า เมื่อประกาศเป็นกฎหมายออกมา บริษัทยินดีปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ โดยจะไม่พยายามหลีกเลี่ยง หรือหาช่องว่างในกฎหมาย เพราะเป็นการทำเพื่อลดผลกระทบทางสังคมจากการดื่ม ทั้งในเรื่องอุบัติเหตุ และจำนวนเยาวชนที่จะหันมาดื่มแอลกอฮอล์ แต่ดูเหมือนเป็นการบังคับใช้ที่ไม่ตรงประเด็น เพราะผู้ที่ใช้สุราผิดประเภท ไม่ระมัดระวังในการดื่ม และไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นคนส่วนน้อยในหมู่ผู้บริโภคแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว การห้ามหรือให้มีโฆษณาคงจะไม่มีผลต่อการดื่มมากขึ้นหรือลดลงเท่าใด

"ด้านแผนการตลาดคงต้องรอดูว่า ข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมเป็นอย่างไรแล้วจึงปรับตาม และต้องดูว่าให้เวลาในการปรับตัวของผู้ประกอบการนานเท่าไร เพราะควรให้เวลาในการปรับตัว เนื่องจากมีสัญญาการโฆษณาตกลงไปล่วงหน้าแล้ว ซึ่งข้อบังคับที่ออกมามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการแน่นอน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ร้านค้า ซัพพลายเออร์ สื่อ และพนักงานในระดับต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีการวางแผนป้องกันหรือไม่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดระดับบนคงไม่มีผลกระทบมาก แต่ในตลาดระดับรากหญ้าเมื่อไม่มีโฆษณา จะต้องเกิดสงครามด้านราคาอย่างแน่นอน" นายปริญกล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์