สำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าวว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์พบฟอสซิลอายุ 67 ล้านปีของงูใหญ่ที่กำลังกัดกินไข่ไดโนเสาร์เป็นอาหาร
โดยผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ซึ่งถูกตีพิมพล์ลงในวารสารพลอส วัน ระบุว่า ฟอสซิลดังกล่าวคือหลักฐานโดยตรงชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการกินอาหารของงูในยุคดึกดำบรรพ์
ฟอสซิลงูขนาด 3.5 เมตรตัวนี้ ถูกเชื่อว่ากำลังพยายามกัดกินลูกไดโนเสาร์พันธุ์ซอโรพอดที่เพิ่งฟักตัวออกมาจากไข่ เนื่องจากร่างกายของมันได้เลื้อยพันอยู่รอบเปลือกไข่ของลูกไดโนเสาร์ชนิดดังกล่าว
เมื่อโตเต็มที่ ไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์พันธุ์นี้จะมีน้ำหนักถึง 100 ตัน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มีเพียงแค่คนจำนวนมากเท่านั้นที่กลัวงู เพราะงานวิจัยชิ้นนี้บ่งชี้ว่าแม้กระทั่งลูกไดโนเสาร์พันธุ์ยักษ์ก็ยังอาจจะหวาดกลัวต่อเจ้าสัตว์เลื้อยคลานเช่นกัน
"มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก ที่ได้ค้นพบช่วงเวลาอันสุดแสนมหัศจรรย์ซึ่งถูกแช่แข็งอยู่ในกาลเวลา" ดร.ธนัญชัย โมฮาเบย์ นักธรณีวิทยาชาวอินเดีย ผู้ขุดพบฟอสซิลงูกินไดโนเสาร์ กล่าว
ดร.ธนัญชัยขุดพบฟอสซิลชิ้นนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเพิ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่านี่คือฟอสซิลของงูที่กำลังพันเลื้อยรอบเปลือกไข่ไดโนเสาร์เมื่อปี พ.ศ.2544
จากการศึกษา งูฟอสซิลตัวนี้ไม่มีขากรรไกรที่สามารถขยายขนาดได้เหมือนงูในยุคใหม่
ดังนั้น มันจึงต้องทำการต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะได้กินลูกไดโนเสาร์ อย่างไรก็ตาม ลูกไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักตัวออกมาจากไข่ก็ดูจะมีขนาดพอเหมาะกับขากรรไกรของงูตัวนี้พอดี ปัจจุบัน คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่างูตัวนี้กำลังบุกโจมตีเพื่อเข้ากินลูกไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักตัวออกจากไข่ ทว่าเหตุการณ์ระทึกขวัญดังกล่าวกลับถูกพิชิตชัยโดยสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ได้แก่ ภัยธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นพายุ จนส่งผลให้เจ้างูใหญ่ยังไม่ทันได้กินลูกไดโนเสาร์ยักษ์ แต่ทั้งหมดกลับถูกแช่แข็งข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษา งูจึงเป็น 1 ในสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด ที่ถูกพิสูจน์พบว่ามีสถานะเป็นผู้ล่าไดโนเสาร์ โดยงูฟอสซิลตัวนี้ถูกขนานนามในภาษาสันสกฤตว่า "สนาเชห์ อินดิคัส" ซึ่งแปลว่าสิ่งมีชีวิตที่อ้าปากค้างมาจากยุคโบราณแห่งอินเดีย