แฉถูกกักตุนเพิ่มชาวบ้านอ่วมหนัก
"ส.อ.ท."ยอมรับผู้ผลิตเครื่องดื่ม-อาหาร กักตุนน้ำตาลเพิ่ม 20-30% หวั่นราคาตลาดโลกขยับขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปี ทำน้ำตาลทรายขาดตลาด-ราคาพุ่งพรวด
พ่อค้าแม่ค้า-ชาวบ้านบ่นพึม ห้างดัง หมดเกลี้ยงชั้นว่างโล่งโจ้ง แถมจำกัดจำนวนซื้อ 3 ถุงต่อคน ร้านค้าโชห่วยแย่ รับจาก ยี่ปั๊วแพง ต้องขายเกินราคา แฉเริ่มขาดตลาดมา 2 อาทิตย์ เพราะโรงงานส่งของน้อย กระทรวงพาณิชย์เต้น สั่งตรวจสอบทั่วประเทศ งัดกฎหมายฟันกักตุน-ขายเกินราคา
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวแบบปลีก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่าขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดตลาดอย่างหนัก
จากการสำรวจห้างค้าปลีกสมัยใหม่ย่านนนทบุรี ปรากฏว่าไม่เหลือน้ำตาลทรายขาวจำหน่ายในชั้นวางขายเลย โดยทางร้านติดป้ายแจ้งลูกค้าว่าสินค้าหมดชั่วคราว เหลือแค่น้ำตาลทรายสีธรรมชาติ และน้ำตาลทรายชนิดพิเศษที่มีราคาสูง กก.ละ 25-31 บาทวางจำหน่ายเท่านั้น ส่วนที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ย่านดอนเมือง, รังสิต และปทุมธานี น้ำตาลทรายขาวแบบขายปลีก ก็ขาดตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ยี่ห้อดัง เช่น มิตรผล และวังขนาย ไม่มีจำหน่าย เหลือเพียงแค่น้ำตาลทรายที่เป็นสินค้าของทางห้าง แต่ก็ซื้อได้ในปริมาณจำกัด แค่คนละไม่เกิน 3 ถุง
พนักงานขายชี้แจงว่า ขณะนี้น้ำตาลทรายขาวเริ่มขาดตลาด เพราะโรงงานน้ำตาลส่งสินค้าเข้ามาลดลง
ประกอบกับลูกค้าสั่งซื้อเพิ่มขึ้น บางรายซื้อยกกระสอบเพราะกลัวขาดแคลน สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น มานานร่วมเดือนแล้ว แต่สินค้าเริ่มมาขาดแคลนในช่วง 2 สัปดาห์หลัง สำหรับราคาขายในห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ ขายเต็มราคาเพดานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดคือ กก.ละ 23.50 บาท ไม่มีการจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษเหมือนที่ผ่านมา
ขณะที่ร้านขายปลีกรายย่อย และ ร้านโชห่วย ส่วนใหญ่มีขายเป็นน้ำตาลทรายชนิดตักตวง และราคาขายอยู่ที่ กก.ละ 25 บาท
สูงกว่าเพดานที่ทางการกำหนดไว้คือที่ กก.ละ 23.50 บาท เพราะต้นทุนที่รับมาจาก ร้านค้าส่งยี่ปั๊ว-ซาปั๊วเพิ่มสูงเป็น กก.ละเกือบ 24 บาท และสั่งซื้อได้จำนวนจำกัด จึงต้อง บวกกำไรเพิ่มอีกเล็กน้อย เพราะหากไม่นำมาขายเลยจะถูกลูกค้าบ่นกันมาก ส่วนตัวแทนร้านค้าส่ง ทั้งยี่ปั๊วและซาปั๊ว ชี้แจงว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่หน้าโรงงาน ทำให้ราคาขายส่งต้องปรับเพิ่ม โดยราคาขายส่งตอนนี้กระสอบ 25 กก. อยู่ที่ 600 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 24 บาท ส่วนแบบกระสอบ 25 กก. ชนิดตักตวงอยู่ที่กระสอบละ 580 บาท ประกอบกับปัจจุบันสั่งซื้อของได้ไม่มากเหมือนก่อน บางครั้งสั่งซื้อ 20 กระสอบ แต่จะได้รับของไม่ถึง 10 กระสอบ
น้ำตาลทรายขาดตลาด
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามผู้บริโภค หรือลูกค้า ทราบว่าต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เพราะที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่ามีน้ำตาลทรายออกมาเพียงพอ แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงร้านค้าส่งค้าปลีกจริง กลับมีไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาขาดแคลน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลว่าเกิดปัญหาจากส่วนใด
ด้าน นายยรรยง พวงราช ปลัดกระ ทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ มอบหมายให้กระทรวง เร่งติดตามแก้ปัญหาน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด
ขณะนี้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเร่งตรวจสอบสถานการณ์ขายน้ำตาลว่ามีความปกติหรือไม่ เพื่อดูแลให้ผู้บริโภคและประชาชนสามารถซื้อหาสินค้าได้ปกติ รวมทั้งป้องกันไม่ให้ร้านค้ามีการกักตุนหรือป่วนตลาด หากพบผู้กระทำผิดขายเกินราคา หรือมีการกักตุน สามารถร้องเรียนได้ที่โทร. 1569 เพราะมีโทษปรับ 1.4 แสนบาท และจำคุกไม่เกิน 7 ปี
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ น้ำตาลขาดตลาด ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกสูงกว่าราคาภายในประเทศมาก
ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก ที่ใช้ในประเทศไปขายตามชายแดน รวมทั้งมีผู้ใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. สำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มาแย่งซื้อน้ำตาลจากโควตา ก เป็นเหตุให้ผู้บริโภคภายในประเทศได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก ยอมรับว่ามีการกักตุนน้ำตาลจริง
โดยเฉลี่ยแต่ละรายซื้อเพิ่มประมาณ 20-30% เพราะผู้ผลิตวิตกถึงราคาน้ำตาลทรายในตลาด โลกจะแพงไปอีก 2-3 ปี อย่างไรก็ดี หากคิดเป็นปริมาณแล้วถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับพ่อค้าคนกลางที่สามารถกักตุนได้ปริมาณที่มากกว่า เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของโกดังเก็บน้ำตาล ดังนั้นเห็นว่าจำเป็นที่ภาครัฐควรจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. สำหรับบริโภคในประเทศ จากเดิมที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ ผู้ผลิตเองไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ต้องยอมรับว่าหากไม่ซื้อน้ำตาลไว้ ก็จะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นได้ แต่การปรับราคาสินค้าขณะนี้คงไม่ง่ายนัก
ส่วน นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า มีการกักตุนน้ำตาลจริง
โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้า แต่ไม่ต้องการระบุว่าเป็นกลุ่มไหน รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่เคยใช้สิทธิน้ำตาลส่งออก โควตา ค. ซึ่งปีที่ผ่านมาการใช้ 4 แสนกระสอบ แต่ปีนี้ขอใช้สิทธิเพียง 2 แสนกระสอบ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะหันไปใช้น้ำตาลโควตา ก. แทน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ระบุว่า ปัจจุบันน้ำตาลยังตึงตัว ไม่ได้ขาดแคลนเพราะมีการจำกัดการซื้อ
โดยพบว่าหลังจากข่าวออกไปเกิดกระแสการกักตุนทุกระดับตั้งแต่ประชาชนรายย่อยจนถึงผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ผลิตที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น เครื่องดื่ม อาหารและผลไม้กระป๋องบางรายซื้อน้ำตาลโควตา ก. เพิ่มขึ้นผิดปกติ อ้างว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัวทำให้โรงงานขยายกำลังผลิตเพิ่มจากปีที่แล้วที่เศรษฐกิจซบเซา
น.ส.ธนัญญา เมืองรามัญ อายุ 23 ปี แม่ค้าขายขนมหวานในตลาดหน้าองค์การโทรศัพท์อยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
บอกว่าขายขนมหวานใส่ถุงมานานกว่า 5 ปีแล้ว ตอนนี้น้ำตาลราคาขึ้น จาก กก.ละ 23 บาท เป็น 26 บาทแล้ว แต่ละวันต้องใช้น้ำตาลมากกว่า 18 กก. ขึ้นมา 3 บาทตอนนี้ก็แย่แล้ว หากขึ้นอีก หรือเป็น กก.ละ 28 บาท ขนมที่ขายอยู่ราคาถุงละ 10 บาท คงต้องปรับมา ใส่ถุงที่เล็กลง เพราะถ้าไม่ทำ คงทุนหายกำไรหด
ขณะที่ นายโชติพงษ์ บัวสระ อายุ 31 ปี พ่อค้าบัวลอยไข่หวานหน้าตลาดวังจันทร์ อ.พระนครศรีอยุธยา
เปิดเผยว่า ตอนนี้น้ำตาลราคาแพงขึ้น กก.ละ 3 บาท แต่ยังขายบัวลอยราคาปกติ คือใส่ไข่ 15 บาท ไม่ใส่ไข่ 10 บาท แต่ถ้าราคาแพงกว่านี้ ก็คงต้องตักบัวลอยขายให้ลูกค้าน้อยลง ไม่เช่นนั้นคงขาดทุนกำไรไปพอสมควร ส่วนพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำตาลทรายในการปรุงขนมหรืออาหารขาย ต่างก็บอกว่าได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงหาซื้อน้ำตาลได้.