"จราจรวิกฤติ"
หลังจากฝนตกหนักเมื่อเย็นวันที่ 10 ต.ค. และน้ำท่วมถนนหลายสายในกรุงเทพมหานครจนการจราจรวิกฤติประชาชนเดือดร้อนไปทั่วนั้น เมื่อเช้าวันที่ 11 ต.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย นายพนิช วิกิจเศรษฐ์ รองผู้ว่าฯ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ รักษาการปลัดกรุงเทพมหานคร ออกตรวจชุมชนนอกคันกั้นน้ำ เริ่มจากชุมชนโรงสีเขตยานนาวา ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ เขตบางกอกน้อยและชุมชนวัดราชผาติการาม
เขตดุสิต พบว่าระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า บ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวโดนน้ำท่วมข้าวของเสียหาย ชาวบ้านบอกว่าทนอยู่มากว่า 2 สัปดาห์ อยากให้ช่วยยกระดับพื้นหนีน้ำ แต่นายอภิรักษ์ตอบว่าทำไม่ได้ เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ช่วยเสริมเตียงหรือชั้นวางของให้และในระยะยาวขอให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น
ใช้ถนนกั้นป้องกันพื้นที่ในเมือง
จากนั้นนายอภิรักษ์เปิดเผยว่าน้ำท่วมบ้านเรือนนอกแนวคันกั้นน้ำ 2,100 หลังคาเรือน ส่วนที่กรมชลประทานเตือนว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นและกำชับให้เตรียมแผนสำรองนั้น คิดว่ายังไม่น่าเป็นห่วง แต่เตรียมจะใช้ถนนที่เคยเป็นแนวกั้นน้ำเมื่อปี 2538 เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เช่น ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนเจริญนคร ถนนสามเสน กั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน ขณะเดียวกัน เตรียมรับน้ำอีกระลอกที่จะไหลลงมาจาก จ.นครสวรรค์ถึงกรุงเทพมหานครอีก 3-4 วันข้างหน้า ถ้าน้ำทะเลไม่หนุนและฝนไม่ตกอีก เชื่อว่าสามารถจัดการได้ ส่วนเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อวันที่ 10 ต.ค.จนเกิดน้ำท่วมหนักนั้น เวลาประมาณ 20.00-22.00 น. ก็สามารถระบายน้ำออกจากถนนสายหลักได้ กระทั่ง 02.00 น. เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ตอนกลางวันที่ฝนไม่ตก ได้เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับฝนที่จะตกลงมาอีก
กรมชลประทานมีเสียว
ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุด หลายพื้นที่ระดับน้ำปริ่มขอบเขื่อนกั้นน้ำ บางจุดเช่นชุมชนสะพานพระราม 6 น้ำทะลักท่วมถนนหน้าวัดสร้อยทอง เจ้าหน้าที่กรมชลประทานคนหนึ่งกล่าวว่าที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน ระดับน้ำเท่ากับเขื่อนกั้นน้ำทำให้ต้องเสริมกระสอบทรายอีก 2 ชั้น ที่โรงเก็บรถของกรมซึ่งเป็นจุดต่ำสุดมีระดับน้ำเกือบล้น ต้องขนกระสอบทรายมากั้นอย่างโกลาหล หากกรมชลประทานถูกน้ำท่วมเอง คงเสียหน้ามาก
ปริมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์
นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า มีการผันน้ำไปสู่ทุ่งเจ้าพระยาทำให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพมหานครน้อยลง และจะยังไม่มีปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชั้นใน ซึ่งกรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.นครสวรรค์ ในช่วงที่น้ำทะเลลงและต้องเฝ้าติดตามช่วง 23-25 ต.ค.นี้ ที่น้ำทะเลจะหนุนอีกครั้ง สำหรับปริมาณน้ำที่ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 5,145 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และอีก 2-3 วันจะสูงสุดที่ 5,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะตั้งแต่วัดปริมาณน้ำที่ จ.นครสวรรค์ มาตั้งแต่ปี 2489 ยังไม่เคยเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อปี พ.ศ. 2538 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก ปริมาณน้ำที่ จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 4,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น