จุรินทร์สั่ง สสจ.สุ่มตรวจลูกชิ้นปลาเรืองแสง

หากพบสารปนเปื้อนให้รีบแจ้งผู้บริโภคโดยเร็ว แนะก่อนรับประทาน ล้างนานๆ นำมาลวกให้สุก


ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วันนี้(17 ก.พ.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.

กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจลูกชิ้นเรืองแสงว่า กรมวิทยาศาตร์การแพทย์กำลังเร่งตรวจสอบในเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้และอยากรู้เช่นกันว่าเกิดการเรืองแสงได้อย่างไร

ด้าน นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตนได้เห็นลูกชิ้นปลาเรืองแสงเช่นกัน

ซึ่งไปซื้อที่ร้านค้าเจ้าเดียวกับที่ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ไปซื้อมาให้ตรวจ และขณะนี้ได้ส่งลูกชิ้นดังกล่าวไปให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 17 ก.พ. ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่กองควบคุมอาหารลงไปในพื้นที่เพื่อดูว่าโรงงานใช้ปลาชนิดใดมาผลิตลูกชิ้นปลา และเป็นปลาที่มีการเรืองแสงได้หรือไม่ เพราะอย่างที่บอก สารเรืองแสงไม่ได้พบในเนื้อปลา แต่พบในน้ำที่ไหลออกมา นอกจากนี้ จากการนำลูกชิ้นปลาที่โรงงานอาหารของ อย.มาตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีสารเรืองแสง ดังนั้นน่าสนใจว่า ทำไมจึงมีเฉพาะลูกชิ้นปลา คงต้องให้เจ้าหน้าที่ อย.ซื้อลูกชิ้นชนิดอื่นมาดูด้วยว่า มีสารเรืองแสงผสมอยู่หรือไม่ ต่อข้อถามว่า ทางพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าอยากให้ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างโดยเร็ว นพ.นรังสันต์ กล่าวว่า อย.ก็กำลังดำเนินการอยู่

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศสุ่มเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลามาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว

หากพบว่า มีการปนเปื้อนสารอันตรายจริงจะได้รีบแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพราะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าว่า สารเรืองแสงดังกล่าวคืออะไร ทราบว่า ทางเลขาธิการ อย. จะนำมาให้ดูในวันที่ 17 ก.พ. หลังจากนั้นจะนำส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทันที ซึ่งตนจะตามไปดูการตรวจด้วยว่า มันเกิดอะไรขึ้น ส่วนคนที่จะบริโภคในช่วงนี้ก็อย่างที่นักวิชาการแนะนำ คือต้องล้างนาน ๆ และนำมาลวกนาน ๆ

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นโยบายที่ตนจะมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อจากนี้ไปคือเร่งตรวจสารที่มีการปนเปื้อนในอาหาร 6 ชนิดที่พบบ่อย
คือ สารเร่งเนื้อแดง(ซาลบูทามอล) สารบอแรกซ์ (โซเดียมบอเรต) ฟอร์มาลิน สารกันรา (กรดซาลิซิลิค) สารฟอกขาว (สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์