นักดาราศาสตร์ชวนดูปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลก เพื่อศึกษาสภาพพื้นผิวและชั้นบรรยากาศ ผ่านกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แจ้งว่า คืนวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 จะมีปรากฏการณ์ดาวอังคารเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ตำแหน่งที่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และโคจรเข้าใกล้กับโลก ส่งผลให้ดาวอังคารมีความสว่างมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ โดยจะมีระยะห่างจากโลกประมาณ 0.6639 เอยู หรือ 99,331,400 กิโลเมตร มีค่าความสว่างปรากฏเท่ากับ-1.28 โชติมาตร และมีขนาดปรากฏประมาณ 14.10 ฟิลิปดา ในช่วงเวลา 01.44 น.
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ เหมาะแก่การศึกษาสภาพพื้นผิวและชั้นบรรยากาศ รวมทั้งดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของดาวอังคาร
และเพื่อให้ได้อรรถรสในการชมควรใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กในการสังเกตการณ์ ซึ่งเริ่มสังเกตเห็นดาวอังคารตั้งแต่เวลา 19.00 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออก และคล้อยต่ำลงไป ทางทิศตะวันตกในเวลาเช้ามืด สามารถติดตามข่าวสารและภาพถ่ายดาวอังคารที่โคจรเข้าใกล้โลกได้ที่ www.narit.or.th