ก.เกษตรฯ 18 ม.ค. - ก.เกษตรฯ กำหนดเกณฑ์ผู้ประกอบการที่มีสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนต้องเป็นผู้ประกอบการเอง มีประวัติการซื้อขายนม พร้อมมอบองค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ ประสานแจ้งรายชื่อผู้ผลิตให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนเอกชน เพื่อกีดกันนายหน้าค้านม
น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนว่า เพื่อให้การจัดการนมโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งยกร่างหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้เป็นไปภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยเบื้องต้นกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ
ได้แก่ การมีเอกสารต่าง ๆ อาทิ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและผลิตอาหาร ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ใบรับรองการผ่านเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี (G.M.P.) รวมทั้งผลการตรวจสถานที่ผลิตอาหารและวิธีการผลิตที่ดีภายในระยะเวลา 12 เดือน หนังสือรับรองการซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างแหล่งน้ำนมดิบกับผู้ประกอบการที่เป็นปัจจุบัน (MOU) และต้องซื้อทั้ง 365 วัน ตามราคาและมาตรฐานด้านน้ำนมดิบ ตามที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมกำหนด รวมถึงไม่มีหนี้สินติดค้างชำระค่าน้ำนมดิบกับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร เกินกำหนดงวดชำระเงินที่ตกลงกันไว้ ตลอดจนเป็นผู้ทำการผลิตและบริหารเอง ยกเว้นการจ้างการผลิตนมยูเอชที
น.ส.สุพัตรา กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
ประกอบด้วย การจัดสรรตามปริมาณน้ำนมดิบที่ทำ MOU กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะ MOU เพื่อโครงการนมโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจริง ทั้งนี้ การจัดสรร MOU ในปีงบประมาณต่อไป จะพิจารณาศักยภาพการผลิต ประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่น ๆ โดยการรับซื้อน้ำนมดิบต้องรับซื้อทุก ๆ 1 ตัน/วัน จากจำนวนวันผลิตสัปดาห์ละ 7 วัน เพื่อที่จะได้รับสิทธิการผลิตเพื่อจำหน่าย จำนวน 4,772 ถุงหรือกล่อง/วัน อีกทั้งจะได้รับสิทธิการจำหน่ายหรือส่งนม เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มสัปดาห์ละ 5 วัน จำนวน 7,000 ถุงหรือกล่อง/วัน รวมทั้งสิ้น 8,477,00 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนนักเรียนก่อนวัยเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศในปี 2553
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดพื้นที่การจำหน่ายหรือส่งนมให้เด็กนักเรียนในแต่ละพื้นที่
โดยในแต่ละจังหวัดจะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 2 ราย และให้จัดสรรกับผู้ประกอบการที่มีโรงงานที่อยู่ในรัศมีใกล้ที่สุดก่อน ตลอดจนให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการและพื้นที่การส่งนม เพื่อแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศให้ทราบ เพื่อที่จะดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อขายต่อไป
สำหรับแนวปฏิบัติในการจัดซื้อนมโรงเรียน ได้มอบหมายให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
แจ้งบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการและพื้นที่การส่งนมโรงเรียนให้กับ อปท. รวมทั้งจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อติดต่อทำสัญญาซื้อขายกับ อปท. เมื่อผู้ประกอบการจัดส่งนมครบถ้วนในแต่ละงวดแล้ว ให้รับหนังสือมอบอำนาจการชำระเงินค่านมโรงเรียนจาก อ.ส.ค. เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการเบิกเงินจาก อปท. และโรงเรียนเอกชนต่อไป. - สำนักข่าวไทย