เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในแถลงข่าว “การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยง” ว่า ผลการสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกทั่วประเทศมีทั้งหมด 1,969,750 คน ประกอบด้วย 1.แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดูแลผู้ป่วย 371,424 คน 2.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน 500,915 คน 3.ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 182,384 คน 4.ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 72,132 คน และ 5.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอายุ 6 เดือน–64 ปี ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรับเคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวานที่มีและไม่มีโรคแทรกซ้อน 842,895 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน โดยจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.- มี.ค. 2553 นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า การกระจายวัคซีนครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ขณะนี้ อย.ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนเรียบร้อยแล้ว โดยองค์การเภสัชกรรมได้กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการฉีด ประกอบด้วยโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ทั้งต่างจังหวัดและกทม.รวม 819 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม ตำรวจ และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ครั้งนี้ จะฉีดในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้