บิ๊กโทลล์เวย์จวกรัฐผิดสัญญา ทำแบกภาระอื้อ จำต้องขึ้นค่าผ่านทาง ยันไม่ปรับลด

กรรมการผู้จัดการดอนเมืองโทลล์เวย์ อธิบายจำเป็นต้องขึ้นค่าผ่านทางเพราะรัฐผิดสัญญาสกัดไม่ให้ขึ้นหลายครั้งหลายครา ทำแบกภาะเพียบ ย้ำไม่หวังค้าคดี พร้อมยันไม่ปรับลด ขอประเมินก่อนจัดโปรโมชั่น

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)

เปิดเผยถึงการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ที่มีการปรับค่าผ่านทางครั้งล่าสุด จาก 55 บาท เป็น 85 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ  ส่วนรถมากกว่า 4 ล้อขึ้นไป จาก 95 บาทเป็น 125 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า เป็นผลมาจากการที่ฝ่ายรัฐกระทำผิดสัญญาและการปรับค่าผ่านทางไม่เป็นไปตามสัญญา โดยการแก้ไขสัญญาเมื่อปี 2539 บริษัทฯได้รับความเสียหายประมาณ 9,000 ล้านบาท และการแก้ไขสัญญาในปี 2550  มีความเสียหายประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขยายเวลาอายุสัมปทานเพิ่มขึ้น 7 ปี และ 13 ปี ตามลำดับ รวมไปถึงขยายโครงสร้างการปรับค่าผ่านทางเพื่อชดเชยภาระขาดทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนของโครงการนับตั้งแต่มีการลงนามในสัญญาเดิมนั้นคาดว่ามีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 15.8 % แต่ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 9 % เท่านั้น


“ ความจำเป็นที่ต้องการปรับค่าผ่านทางและขยายอายุสัมปทานนั้น เกิดจากการลงนามในสัญญาเมื่อปี 2532 อายุสัมปทาน 25 ปี  สิ้นสุดในปี 2557  แต่เมื่อเปิดให้บริการและจัดเก็บค่าผ่านทางได้ 1 ปี นับจากเดือนธันวาคม 2537 ปรากฎว่าในเดือนธันวาคม 2538 ทางรัฐได้กระทำผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างในส่วนพิ่มเติมได้ ทำให้ในปี 2539  มีการเจรจาและนำไปสู่การแก้ไขสัญญา ในที่สุดก็ขยายอายุสัมปทานไปสิ้นสุดในปี 2564  หลังจากนั้นบริษัทฯได้ลงทุนเพิ่มในการก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน วงเงิน 4,500   ล้านบาท ” นายธานินทร์กล่าว


นายธานินทร์กล่าวว่า ในเวลาต่อมารัฐบาลก็ได้ทำผิดสัญญาอีกครั้ง

เพราะตามข้อลงที่มีการแก้ไขสัญญาเมื่อปี 2539  กำหนดว่า ค่าผ่านทางช่วงกลางปี 2542  ต้องปรับเพิ่มจาก 30+13 บาท (ช่วงดินแดง-ดอนเมือง+ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน) เป็น 40 +15 บาท แต่รัฐบาลไม่ให้ปรับราคา และช่วงกลางปี 2547 ต้องปรับราคาเป็น 50+20 บาท แต่รัฐบาลก็ไม่ให้ปรับราคา และปี 2548  รัฐบาลยังขอปรับลดค่าผ่านทางลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ในปี 2549 ปรับเป็น 20+10 บาท และปี 2551 ปรับเป็น 50+20 บาท และปี 2551 รัฐบาลปรับเป็น 35+20 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาที่ควรจะเก็บจริง รวมทั้งช่วงกลางปี 2552 ต้องปรับค่าผ่านทางเป็น 60+25 บาท แต่รัฐบาลให้จัดเก็บอยู่ที่ 35+20 บาท ดังนั้นการเจรจาปรับแก้ไขสัญญาในปี 2550 จึงพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและปัญหาส่วนอื่นที่รัฐผิดสัญญาอีกคิดเป็นมูลรวม 15,000 ล้านบาท


“ การปรับแก้ไขสัญญาทั้ง 2  ครั้งมีมูลค่าความเสียหาย และมีแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อมาพิจารณาและเจรจากับทางบริษัทฯ เพื่อไม่ต้องการมีปัญหาในการฟ้องร้องกันจึงนำมาสู่การเจรจา และประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและชดเชยด้วยการขยายอายุสัมปทาน พร้อมปรับโครงสร้างค่าผ่านทางตามระยะเวลาที่ขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้มีตัวแทนจากรมทางหลวง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการในการพิจารณา ขอยืนยันว่าขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและก่อนลงนามการแก้ไขสัญญาก็มีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี “นายธานินทร์กล่าว


นายธานินทร์กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ก็ไม่ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน 

เพราะสัญญาฉบับนี้มีผลผูกพันก่อนปี 2535 และเป็นการปรับแก้ไขสัญญา ไม่ได้ก่อสร้างโครงการใหม่  จึงไม่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าว
นายธานินทร์กล่าวว่า กรณีบริษัท วอเตอร์บาว์น อดีตผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่ได้ฟ้องในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัททางยกระดับฯ เนื่องจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะฟ้องร้องรัฐบาล แต่บริษัทวอเตอร์บาว์นถือหุ้นเพียง 9 %  จึงต้องใช้สิทธิการฟ้องในฐานะนักลงทุนชาวเยอรมันตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ จึงไม่มีผลกับบันทึกแก้ไขสัญญาในข้อ  6 เพราะบริษัทฯได้ถอนฟ้องกรณีการคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้าที่อยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ส่วนกรณีอื่นๆ ยังเป็นข้อพิพาท ดังนั้นถือว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามสัญญาทุกประการ


นายธานินทร์กล่าวว่า กรณีที่นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ดำเนินการเพื่อขอซื้อหุ้นคืนจากบริษัทวอเตอร์บาว์นก็เพื่อต้องการยุติปัญหาที่จะมีการฟ้องร้องรัฐบาล

โดยยอมจ่ายค่าหุ้นสูงกว่าราคาทางบัญชี  พร้อมกับได้มีการทำข้อตกลงให้บริษัทวอเตอร์บาว์นถอนฟ้อง แต่ทางบริษัทงวอเตอร์บาว์นไม่ดำเนินการตามข้อตกลง นายสมบัติก็ได้ฟ้องกลับและต้องไปขึ้นศาลที่ประเทศสิงค์โปร์หรือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปีหน้าด้วย  แสดงให้เห็นว่า ทางบริษัททางยกระดับฯไม่ต้องการที่จะค้าคดี


นายธานินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการปรับค่าผ่านทางเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ผู้ใช้บริการลดลงจาก 80,000 คันต่อวัน เหลือ 57,000  คัน

และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 คัน ซึ่งเป็นไปตามผลการสำรวจก่อนหน้านี้ว่าจะมีผู้ยอมรับการปรับราคาได้ 70% ส่วนอีก 30 % ไม่สามารรถยอมรับได้  หรือคิดเป็นสัดส่วนลดที่จะกลับไปใช้บนถนนวิภาวดีรังสิตประมาณ 25,000  คันต่อวัน หรือคิดเป็น 10 % ของรถบนถนนวิภาวดีรังสิตที่มีวันละ 250,000 คันต่อวัน


“ บริษัทฯยังไม่มีนโยบายเรื่องการปรับลดค่าผ่านทาง โดยขอเวลาการประเมินผลก่อน หากจำนวนผู้ใช้ทางลดลงมาก ในปี 2553 จะมีโปรโมชั่น เช่น แจกบัตรเติมน้ำมันบางจาก 200 บาท วันละ 30 รางวัล และหลังจากนั้นจะมีกิจกรรมชิงโชคอื่นๆตลอดปีด้วย ส่วนการทำคูปองส่วนลดพบว่ามีปัญหาในการปลอมบัตรจึงไม่เลือกใช้วิธีการนี้ เพราะป้องกันยาก ” นายธานินทร์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์