ค้นพบพันธุ์บุหรงชนิดใหม่ของโลก

"บุหรงช้าง"และ"บุหรงดอกขู่"พืชชนิดใหม่ของโลก นักวิจัยพบครั้งแรกบนผืนแผ่นดินไทย เตรียมต่อยอด ขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเพื่ออนุรักษ์ และศึกษาสรรพคุณด้านสมุนไพร หลังมีสารต้านเชื้อมะเร็งในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง
   
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ธ.ค. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


จัดแถลงข่าวสรุปผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2552 พร้อมเปิดตัว “บุหรงช้าง” และ “บุหรงดอกทู่” พรรณไม้ในสกุลบุหรงชนิดใหม่ของโลก โดยนายอนันต์  รุ่งพรทวีวัฒน์ รองผู้ว่าการกลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว.ได้ค้นพบและตั้งชื่อบุหรงชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด คือ บุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ โดยพรรณไม้ทั้ง 2 ชนิด ได้มีการตรวจสอบการตั้งชื่อและนำไปตีพิมพ์รายงานในวารสาร Systematic Botany ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 หน้า 252-265 ประจำปี 2552 เป็นวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนต้นแบบของตัวอย่างแห้ง ของบุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ได้มีการเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งนับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
   
ด้าน ดร.ปิยะ  กล่าวว่า ได้สำรวจพบบุหรงช้างครั้งแรกเมื่อปี 2544 ในป่าดิบชื้นของ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ที่ระดับความสูง 300-500 เมตร

ลักษณะพิเศษของบุหรงช้าง คือ เป็นบุหรงเพียงชนิดเดียวที่เป็นเถาเลื้อย ขณะที่บุหรงชนิดอื่นเป็นไม้พุ่ม ซึ่งเถาเลื้อยไปได้ไกล 15 เมตร มีดอกยาวประมาณ 17 เซนติเมตร และผลเป็นรูปทรงกระบอกยาว 3-6 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลบุหรง ดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ปัจจุบันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Dasymaschalon gran diflorum Jing Wang, Chalermglin & R.M.K. Saunders”
    
ส่วนบุหรงดอกทู่ มีการสำรวจพบมา นานหลายปี พบในป่าดิบเขาของ อ.แม่ฟ้าหลวงและ อ.เมือง จ.เชียงราย

ที่ระดับความสูง 800-1,600 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Dasymaschalon obtusipetalum Jing Wang, Chalermglin and R.M.K. Saunders” โดยมีลักษณะพิเศษคือ เป็นไม้พุ่ม สูง 4-6 เมตร ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ดอกออกที่ปลายยอด ขนาด 1.5-3  เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยม ตอนปลายดอกทู่และไม่บิด ดอกบานในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
    
ดร.ปิยะ กล่าวอีกว่า หลังจากค้นพบดังกล่าวได้มีการวิจัยต่อยอดด้านการขยายพันธุ์ นอกถิ่นกำเนิดเพื่ออนุรักษ์พรรณไม้หายาก

โดยขณะนี้ได้ทำการศึกษาขยายพันธุ์บุหรงดอกทู่ โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบกิ่ง และทำการศึกษาสรรพคุณด้านสมุนไพรจากสารเคมีในลำต้นของบุหรง ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อมะเร็งในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรงหรือออกฤทธิ์ได้ผล ภายในสารชนิดเดียว จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนขยายผลการใช้ประโยชน์ด้านเภสัช กรรม สำหรับบุหรงช้างนั้นเนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตอยู่ในพื้นที่ที่ยากลำบากในการเข้า ไปสำรวจ และเป็นพื้นที่อันตรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้จึงยังไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม.

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์