หนี้คลื่นวิกฤติเศรษฐกิจลูกใหม่

ปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาลที่รุมเร้ากรีซ ไอร์แลนด์และออสเตรียอยู่ในเวลานี้

กำลังทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยุโรป และตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า วิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนและใน 16 ประเทศที่ใช้เงินยูโร ยังไม่จบ อาจกลายเป็นปัญหาลุกลามไปทั่วสหภาพยุโรปได้อีกรอบจากยอดหนี้มโหฬารของทั้ง 3 ประเทศ
   
อย่างไรก็ตาม กรีซและไอร์แลนด์กำลังพยายามอย่างหนักที่จะตัดลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ทั้ง 2 ชาติต่อสู้กับยอดขาดดุลที่เกินควบคุมแล้ว

ส่วนออสเตรียต้องเข้ายึดธนาคารไฮโป แอลป์ อาเดรีย ซึ่งเป็นสาขาของธนาคารบาเยิร์นแอลบีของเยอรมนี เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนยับเยินจากหนี้เสียในยุโรปตะวันออก กระแสข่าวที่ย่ำแย่ดังกล่าวได้บั่นทอนความน่าเชื่อถือจากการยืนยันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ยูโรโซนทั้งหมด โผล่พ้นจากภาวะถดถอยแล้ว เมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 กระนั้นก็ตาม ความพยายามแก้ปัญหาการเงินและการธนาคารในดับลิน เอเธนส์ และเวียนนา แสดงให้เห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซน ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2542 อายุครบ 10 ขวบปีพอดี ยังไม่ยุติลงง่าย ๆ และยังตึงเครียดอยู่
   
สกุลเงินยูโรแข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 เดือน อยู่ที่ 1.5144 ดอลลาร์สหรัฐในปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ดิ่งลงมาแตะที่ 1.4526 ดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ เงินยูโรเคยแข็งสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6038 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2551 ทั้งไอร์แลนด์และกรีซ กำลังประสบปัญหายอดขาดดุลด้วยตัวเลข 2 หลัก และกำลังดิ้นรนตามหน้าที่พื้นฐานในฐานะที่เป็นสมาชิกที่ร่วมใช้เงินยูโร เพื่อควบคุมยอดขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในวงจำกัดตามกฎระเบียบที่พึงปฏิบัติของสมาชิก นายนีล   เมลเลอร์ นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ระบุไม่ว่ากรีซสามารถเลี่ยงวิกฤติหนี้ได้หรือไม่ก็ตาม แต่ยังทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับกลไกด้านโครงสร้างและการเมืองในเขตยูโรโซน

ลำพังเฉพาะปัญหาในกรีซประเทศเดียว อันเป็นหนึ่งในสมาชิกอียู

และหนึ่งในประเทศยูโรโซน ย่อมต้องส่งผลลุกลามไป สู่บรรดาประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย การขาดดุลงบประมาณของกรีซ ที่ว่ากันว่าอาจสูงถึงร้อยละ 12.7 ของจีดีพีในช่วงปี 2553 นอกจากจะส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความเชื่อยักษ์ใหญ่ แต่ละบริษัท ทั้งฟิทช์ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ตัดสินใจลดเรตติ้งตราสารหนี้ระยะยาวของกรีซ ประกาศให้ตราสารทางการเงินแบบปรับโครงสร้างทุกชนิดของกรีซอยู่ในภาวะถูกจับตามองกันไปทั้งหมดแล้ว สถาบันการเงินและธนาคารของกรีซยังต้องถูกลดอันดับความเชื่อตามไปด้วย อันเนื่องมาจากส่วนใหญ่ต่างล้วนถือครองพันธบัตรรัฐบาลเอาไว้นับเป็นกอง ๆ
   
แต่จอร์จ ปาปาคอนสแตนตินู รัฐ มนตรีคลังกรีซ ยืนยันว่า กรีซสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน และมั่นใจ ว่าจะสามารถดำเนินการตามแผน

เพื่อลดปัญหาขาดดุลงบประมาณ ลงมาต่ำกว่าร้อยละ 3 ได้ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับ ไบรอัน เลนิฮัน รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์ ที่มีชื่อติดโผประเทศเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศของเขากำลังจะเอาชนะปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะไอร์แลนด์ได้รับการพิจารณาจากยุโรปว่า ดำเนินมาตรการที่ได้ผลในการควบคุมฐานะการเงินของประเทศ โดยเขาคาดการณ์ว่าไอร์แลนด์จะสามารถดึงตัวเลขขาดดุลงบประมาณลงมาต่ำกว่าร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่า ร้อยละ 12.5 ที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน อันเป็นผลมาจากการลดงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลลงร้อยละ 2 ของจีดีพี
   
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้รัฐย่ำแย่ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อปลายเดือน พ.ย. ปีนี้

หลังจากดูไบ เวิลด์ บริษัทในความดูแลของรัฐบาล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผิดนัดชำระหนี้มูลค่ามหาศาลประมาณ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มูดี้ส์เพิ่งขู่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะความไม่แน่นอนเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ดูไบเวิลด์.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์