ภาค ปชช.ขู่ฟ้องศาลปกครอง ระงับโครงการมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” แฉงบพุ่งจาก 2 หมื่นล้าน เป็น 5.9 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ จัดเสวนาเรื่อง “โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ใครได้ใครเสีย” โดย นายประเทือง ปรัชญพฤชธิ์ ประธานเครือข่ายรณรงค์สื่อต้านคอรัปชั่น กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่โปร่งใส ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการนี้ ภาคประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ยับยั้งโครงการนี้ เพราะมีความไม่ชอบธรรมตั้งแต่การประชาพิจารณ์ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการประชาพิจารณ์ที่ไม่ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม แต่กรมทางหลวงได้เกณฑ์ประชาชนจากพื้นที่อื่นมาทำแทน และมีการตั้งคำถามนำที่ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก นอกจากเห็นด้วยกับการสร้างมอเตอร์เวย์เส้นนี้
“ถือว่า เป็นโครงการลิงหลอกเจ้า หรือโครงการนักการเมืองหลอกประชาชน โดยโครงการยังไม่เริ่มต้นก็มีการจ้องอนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท ไปศึกษาการเวนคืนที่ดิน อยากถามว่า ถ้าโครงการนี้ไม่สำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งภาคประชาชนต้องติดตามตรวจสอบให้เข้มข้น เพราะไม่เช่นนั้นหากโครงการบางปะอิน-โคราช สำเร็จ ก็จะมีโครงการอื่น ๆ ที่เขาวางไว้อีก 4 เส้นทาง ตามมาแน่นอน ถึงตอนนั้นเชื่อว่า งบประมาณจะพุ่งถึงแสนล้านบาท”
นพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี กลุ่มมวลชนรักโคราช กล่าวว่า
คนโคราชส่วนใหญ่คัดค้านโครงการนี้ เพราะเห็นว่า เป็นโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีถนนทั่วประเทศกว่า 2 แสนกิโลเมตร จึงไม่เข้าใจว่า ที่กระทรวงคมนาคมมีโครงการสร้างเส้นทางหลวงพิเศษอีก 4 โครงการ รวมงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท สร้างเพื่ออะไร เพราะการสร้างถนนดังกล่าวไม่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงอยากให้นำงบประมาณตรงนี้มาสร้างรถไฟรางคู่ และพัฒนาระบบรถไฟให้เป็นรถไฟความเร็วสูงจะดีกว่า ถ้าทำได้เชื่อว่า จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งโดยภาพรวมจาก 19% เป็น 11% ได้
“เส้นทางนี้ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ เป็นแค่เส้นทางคนไฮโซเท่านั้น เพราะรถไม่กี่คันเท่านั้นที่วิ่งได้ และยังมีข้อสงสัยว่า แต่เดิมมีการตั้งงบประมาณไว้ 2 หมื่นล้าน ทำไมจึงเพิ่มเป็น 5.9 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศเศรษฐกิจไม่ดี ต้องไปกู้เขามา จึงอยากถามว่า โครงการนี้ใครเข้มแข็งกันแน่”
ส่วนที่กระทรวงคมนาคม นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า
กรมทางหลวงได้ออก 5 มาตรการ เพื่อลดผลกระทบด้านจราจร กรณีที่จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางยกระดับดอนเมือง หรือดอนเมืองโทลเวย์ จาก 55 บาท ด้วยการให้เร่งประชาสัมพันธ์ค่าผ่านทาง และแนะนำเส้นทางเป็นการล่วงหน้า โดยติดตั้งป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์อัตราค่าผ่านทางโครงการดอนเมืองโทลเวย์ และป้ายแนะนำเส้นทางในการเดินทาง, การบริหารจัดการจราจร, ปรับปรุงดูแลสภาพผิวทางจราจร และขจัดอุปสรรค, จัดศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน, จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการกู้ภัย และการรายงานข้อมูลสภาพการจราจร โดยการจัดให้มีศูนย์กระจายข่าว โดยใช้สายด่วนของกรมทางหลวง หมายเลข 1586.