ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เกรย์กรุ๊ป บริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลก สอบถามชาวเอเชียมากกว่า 33,000 คน ใน 16 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งไทย พบว่าร้อยละ 95 ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวเป็นอันดับแรก ร้อยละ 80 ปรารถนาว่า จะใกล้ชิดกับคนในชุมชนเดียวกันให้มากขึ้น
นางจารุ ฮาริช ผู้อำนวยการการวางแผนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของเกรย์กรุ๊ป ระบุว่า
วิกฤติสินเชื่อทำให้ชาวเอเชียเปลี่ยนทัศนะจากการยึดตัวเองเป็นยึดส่วนรวม หลายคนรู้สึกว่า สิ่งรอบตัวเปลี่ยนไปทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน สิ่งเดียวที่พึ่งได้ คือ ครอบครัว แม้ชาวเอเชียส่วนใหญ่ไม่เดือดร้อนหนักเหมือนชาวอเมริกัน และชาวยุโรป แต่ก็หนีวิกฤติเศรษฐกิจไม่พ้นเช่นกัน
ผลการสำรวจพบว่า
ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย จีน รู้สึกผูกพันกับชุมชนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียอย่างญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะขาดโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งสร้างความอุ่นใจ ผู้ตอบที่เป็นพ่อแม่คนเกือบทุกคนเป็นห่วงว่า ชีวิตสมัยใหม่ทำให้บุตรหลานโตเร็วเกินไป และรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ มากเกินไป ผู้ตอบ 2 ใน 3 เผยว่า แม้ว่า มีแหล่งข้อมูลท่วมท้น พวกเขามักขอคำแนะนำจากครอบครัว และเพื่อนฝูงในการตัดสินใจซื้อของ หรือเลือกสถานที่ท่องเที่ยว บริษัทวิจัย ระบุว่า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การตลาดแบบปากต่อปากมีความสำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ และควรเน้นครอบครัว หรือชุมชนมากกว่าตัวบุคคล เพราะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคชาวเอเชีย.