อภิรักษ์เครียด กทม.จมแน่

"ไฟฟ้าดับหลายแห่งเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน"


ภายหลังฝนตกหนักในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อค่ำวันที่ 26 ก.ย.จนน้ำท่วมหลายพื้นที่ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว ต่างตำหนิการทำงานของผู้บริหารกรุงเทพมหานครอย่างมากนั้น เมื่อเช้าวันที่ 27 ก.ย. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปที่สถานีสูบน้ำสามเสน เขตดุสิต ตรวจความพร้อมการระบายน้ำ เจอเศษกิ่งไม้และผักตบชวาติดอยู่ที่ตะแกรงเหล็กท่อระบายจำนวนมาก

นายสัญญา ชีนิมิตร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำรายงานว่า สถานีสูบน้ำสามเสนเปิดเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ระบายน้ำพื้นที่ชั้นในลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจนสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ แต่ฝนที่ตกหนักช่วงหัวค่ำวันที่ 26 ก.ย. ทำให้ไฟฟ้าดับหลายแห่งเป็นเหตุให้เครื่องสูบน้ำทำงานไม่ได้จึงยังมีน้ำท่วมขังหลายจุดเช่น ถนนพัฒนาการ ถนนลาดพร้าว และประชานิเวศน์

"แสนแสบน้ำท่วมสูง งดบริการเรือด่วน"


ส่วนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ฝนที่ตกเมื่อค่ำวันที่ 26 ก.ย. วัดปริมาณได้ 80-110 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเกินกว่าศักยภาพของกรุงเทพมหานครซึ่งรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ประกอบกับมีอุปสรรคหลายอย่างเช่น ไฟฟ้าดับ นอกจากนี้ ที่สถานีสูบน้ำบางซื่อมีต้นมะพร้าวสูง 3 เมตร และเสาเข็มยาว 4 เมตร หลายท่อนลอยไปติดขวางตะแกรงระบายน้ำ ทำให้ต้องปิดเครื่องสูบน้ำแล้วให้คนงานใช้รอกดึงขึ้นมาเสียเวลากว่า 1 ชั่วโมง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวอีกว่า เหตุดังกล่าว ส่งผลให้พื้นที่ถนนลาดพร้าว รัชดาภิเษก แจ้งวัฒนะ และพหลโยธินมีน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัดนานนับชั่วโมง ส่วนระดับน้ำในคลองแสนแสบสูงมากจนเรือโดยสารต้องหยุดบริการ ขณะนี้เร่งระบายน้ำจากคูคลองสายต่างๆลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเหลือพื้นที่รับน้ำฝนที่อาจตกหนักอีก พร้อมกันนั้น ตั้งศูนย์ปฏิบัติการกู้ภัยน้ำท่วมกระจายทั่วกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตแต่ละแห่งจะตั้งศูนย์ฯตามปากซอย ถนน หรือพื้นที่จุดวิกฤติ

"เตรียมงบฉุกเฉิน 100 ล้านแก้ปัญหาน้ำท่วม"


กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามจุดคอยช่วยเหลือ ประชาชนและเตรียมงบฉุกเฉิน 100 ล้านบาทไว้แล้ว ขณะเดียวกัน เป็นห่วงเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำใช้เวลามากขึ้น เนื่องจากต้องปิดประตูระบายน้ำและสูบออกอย่างเดียว และหากมีฝนตกหนักลงมาอีก ยิ่งจะทำให้การระบายน้ำจากคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้ช้าตามไปด้วย ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

บ่ายวันเดียวกัน นายอภิรักษ์เข้าพบ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด รายงานปัญหาที่เกิดขึ้นโดยกล่าวว่าปริมาณฝนตกมากเกินกว่าที่ กทม.จะรับไหว แต่สถานการณ์คลี่คลายแล้วและเตรียมรับน้ำทะเลหนุนและฝนตกใน 1-2 วันนี้ โดยเฉพาะเขตลาดกระบังซึ่งพื้นที่ต่ำ จะปิดล้อมแล้วสูบน้ำลงคลอง จากนั้นทั้งหมดขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และสมุทรปราการ

"ตรวจแล้วไม่น่าห่วง"


พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด เปิดเผยว่า คปค.มอบหมายให้ดูแลเรื่องอุทกภัย จากการตรวจในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีน้ำท่วมบางแห่งแล้ว แต่ไม่น่าเป็นห่วง แม้ในวันที่ 28 ก.ย.จะมีน้ำทะเลหนุนสูงก็คิดว่าไม่มีปัญหา ยกเว้นหากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้น้ำไหลลงท่อระบายช้าและเกิดน้ำท่วมอีก โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำ แต่ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมแผนงานไว้ดี

อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับปัญหาน้ำเหนือที่ไหลมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยาแล้วซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตนนทบุรีและกรุงเทพมหานครจะสูงขึ้นและปีนี้น้ำเหนือมากผิดปกติ หากมีปัญหาเดือดร้อนสามารถแจ้งผ่านรายการวิทยุเช่น สวพ.91 จส.100 หรือร่วมด้วยช่วยกัน ทุกเครือข่ายมีช่องทางติดต่อ กทม. ขณะที่ทหารยินดีสนับสนุนทุกเรื่องที่ขอมา พล.อ.บุญสร้างกล่าว

"ให้เผื่อเวลาออกทำงานด้วย"


ด้าน พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล ผู้บังคับการตำรวจจราจรกล่าวว่า ตอนเช้าที่ผ่านมาการจราจรติดขัดหลายแห่งเนื่องจากน้ำท่วมขัง เช่นถนนกำแพงเพชร 2 หลังขนส่งหมอชิตใหม่ ถนนรัชดาภิเษกขาเข้าช่วงปากซอยเกิดผลถึงแยกรัชดาลาดพร้าว แยกพัฒนาการ-พัฒนาการซอย 54 ซอยลาดพร้าว 91-93 และถนนราชปรารภขาเข้าใกล้แยกมักกะสันน้ำกัดเซาะผิวจราจรเป็นหลุมลึก 2 ฟุต ทำให้ รถจากถนนวิภาวดีฯขาเข้ามุ่งหน้าแยกมักกะสันติดขัด

สัญญาณไฟจราจรเสียหลายแห่ง เช่น แยกเฉลิมเผ่า แยกมัยลาภ แยกอรุณอมรินทร์ จราจรต้องลุยน้ำโบกรถกลางแยก นอกจากนี้ มีรถเสียจำนวนมาก ขณะที่ผู้ใช้รถส่วนหนึ่งเครียดจัดเพราะรถติดนานเลยโทรศัพท์โวยตำรวจ จึงอยากให้ทุกคนเผื่อเวลาการเดินทางไว้ด้วย พล.ต.ต. ภาณุกล่าว

"กรุงเก่าท่วมแล้ว กว่า 10 อำเภอ"


สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาคกลางที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยาเรียกประชุมหัวหน้าหน่วยราชการเนื่องจากน้ำท่วมไปแล้ว 10 อำเภอ พร้อมกับเน้นป้องกันโบราณสถานและสถานที่สำคัญทุกแห่ง ส่วน จ.สิงห์บุรี น้ำท่วมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขต อ.อินทร์บุรี และ อ.เมืองสิงห์บุรี ชาวบ้านต้องย้ายข้าวของมาอยู่บนถนนชลประทาน ขณะที่ จ.ชัยนาทมีน้ำท่วมบางพื้นที่ของ อ.สรรพยา อ.มโนรมย์ และ อ. วัดสิงห์

ที่ จ.อ่างทอง แม่น้ำเจ้าพระยาท่วมสองฝั่งเขต ต.ชะไว อ.ไชโย ซึ่งยังสร้างเขื่อนไม่เสร็จ โดยท่วมเป็นแนวยาวราว 14 กิโลเมตร ทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรีและมณฑลทหารบกที่ 13 นำกระสอบทรายมากั้นไม่ให้ท่วมมัสยิด นอกจากนี้ มีน้ำท่วมในเขต อ.ป่าโมกและ อ.แสวงหา สำหรับโรงพยาบาลอ่างทองซึ่งเคยถูกน้ำท่วมนั้น ได้ใช้กระสอบทรายกั้นและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

"น้ำลดกลายเป็นแหล่งเพาะยุงลาย ชาวบ้านป่วยไข้เลือดออกอื้อ"


ภาคเหนือที่ จ.พิจิตร ที่น้ำท่วมเสียหายหลายอำเภอประชาชนเดือดร้อนอย่างมากนั้น มีรายงานว่าน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่ สะพานขาดหลายแห่ง เขตเทศบาลตำบลโพทะเล อ.โพทะเล เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ขณะเดียว กัน ผู้สื่อข่าวไปที่วัดวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง หลังมีข่าวจระเข้ที่วัดเลี้ยงไว้หลุดลงไปในแม่น้ำยม พระครูพินิจกิจาธร เจ้าอาวาสเผยว่า จระเข้ยังอยู่ แต่น้ำท่วมเกือบถึงปากบ่อที่เลี้ยงแล้ว

ส่วน จ.พิษณุโลก อุทกภัยในเขต อ.บางระกำ และพรหมพิราม ยังหนัก พร้อมกันนั้นมีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นใน อ.บางกระทุ่ม สำหรับ อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ อ.เนินมะปราง และ อ.นครไทยที่น้ำลดลงเหลือน้ำท่วมขังบางพื้นที่นั้นกลายเป็นแหล่งเพาะยุงลายเนื่องจากน้ำเน่า มีประชาชนป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก ขณะเดียวกันมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯและทหารจากหน่วยต่างๆนำถุงยังชีพไปช่วยเหลือราษฎร ด้าน จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่เขื่อนกิ่วลมแจ้งว่ายังสามารถรับน้ำได้อีก ส่วนที่น้ำท่วมในเขต จ.ตากไม่ได้เกิดจากเขื่อนกิ่วลมระบายน้ำ แต่มีฝนตกใต้เขื่อน

"อุตุฯเตือน ฝนตกหนัก 1-2 วันนี้"


ภาคอีสานที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีข่าวว่าเขื่อนลำปาวรั่วนั้น นายปูชนีย์ จำเริญศักดิ์ศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำเขื่อนลำปาว เผยว่า ที่เห็นน้ำไหลออกจากสันเขื่อน เป็นเพราะท่อที่ต่อไว้ตามหลักวิศวกรรม ขณะที่นายณรงค์ชัย ทิพกนก นายอำเภอยางตลาด กล่าวว่า อำเภอยางตลาดอยู่ติดกับเขื่อนลำปาว ไม่มีการอพยพราษฎรแต่อย่างใดและมักจะเกิดข่าวลักษณะนี้ทุกปีช่วงหน้าฝน

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ มีฝนตกหนักในระยะ 1-2 วันนี้ พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณพื้นที่ลุ่มและที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลของภาคเหนือในจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ภาคกลางในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ภาคใต้ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปฟิลิปปินส์ต้องระวังไต้ฝุ่น ช้างสาร ที่เคลื่อนใกล้บริเวณดังกล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์