เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า
เมื่อเร็วๆนี้ ตนเป็นประธานการประชุมโครงการโรงเรียนดี 3 ระดับ โดยได้มีนโยบายให้โรงเรียนมัธยมชั้นนำของประเทศ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 500 โรง จัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 นี้ โรงเรียนที่มีความพร้อมให้ทยอยเปิดห้องเรียน 2 วิชาดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้หมดทุกห้องเรียนขึ้นอยู่กับความพร้อมของครู นักเรียน ในโรงเรียนของตัวเอง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า
สาเหตุที่ให้โรงเรียนชั้นนำจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าโรงเรียนกลุ่มนี้ต้องเข้าโครงการยกระดับเป็นโรงเรียนดีระดับสากล ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนสังกัด สพฐ. ให้มีโรงเรียนดี 3 ระดับ คือ โรงเรียนดีประจำตำบล 7,000 โรง ทั่วประเทศ โรงเรียนดีประจำอำเภอ 2,500 โรง ทั่วประเทศ และโรงเรียนดีระดับสากล 500 โรง ทั่วประเทศ
ดังนั้นเพื่อมุ่งเน้นให้โรงเรียนชั้นนำเดินไปสู่คุณภาพระดับสากลแล้ว ก็ควรพยายามจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ แต่หากให้สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชาและทุกโรงเรียน อาจล้มเหลวได้ เพราะความไม่พร้อม ด้านครูและนักเรียน เหมือนอย่างเช่นประเทศมาเลเซีย ที่เคยมีนโยบายให้โรงเรียนทุกแห่ง สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพัฒนาครูไม่ทัน ขณะที่ตัวเด็กเองก็ยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า สำหรับประเทศไทยควรจะเริ่มเปลี่ยนมาจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเฉพาะ 2 วิชาสำคัญก่อน และดำเนินการเฉพาะในโรงเรียนชั้นนำซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง จากนั้นค่อยขยายฐานออกไป
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า
อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการพัฒนาโรงเรียนดี 3 ระดับนั้น ยังมีการกำหนดเกณฑ์อื่นๆเพิ่มเติมด้วย โดยพื้นฐานโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องพัฒนาให้มีความพร้อมทางด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งอาคาร สถานที่ ต้องมีห้องสมุด 3 ดี และคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต่อนักเรียน 10 คน ไว้บริการนักเรียน นอกจากนั้นทั้งโรงเรียนดีประจำตำบลและโรงเรียนดีประจำอำเภอ จะต้องมีครูที่สอนตรงวิชาเอกด้วย สำหรับโรงเรียนประจำตำบล ต้องมีครูสอนตรงวิชาเอก อย่างน้อย 5 กลุ่มสาระวิชา ส่วนโรงเรียนดีประจำอำเภอต้องมีครูสอนตรงวิชาเอก อย่างน้อย 8 กลุ่มสาระวิชาและที่สำคัญโรงเรียนดีระดับสากลนั้น อาจจะต้องมีระบบคัดเลือกนักเรียนโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ให้ สพฐ.ไปดูอยู่ และเร็วๆนี้จะมีคำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณการดำเนินการนั้นอยู่ในวงเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท